คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407-3408/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของบริษัท ว. แห่งประเทศ อังกฤษ ก็ตาม แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาเป็นคู่ความทั้งไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศ ไทยอันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 2729 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนโดยฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทและขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษา
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสำนวนแรกทำนองเดียวกับสำนวนหลังว่าโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าเป็นรูปอักษรโรมันตัวดับเบิ้ลยู (W) ในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีอักษรโรมันอ่านออกเสียงว่า “เวลโก้” (WELLCO) อยู่ใต้ตัวอักษรดังกล่าวและได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาราว 4 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2523 ถึงพ.ศ. 2524 โจทก์ว่าจ้างจำเลยผลิตกาต้มน้ำไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และโจทก์ใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าประเภทกาต้มน้ำไฟฟ้า จำหน่ายทั้งในและนอกประเทศรู้จักกันแพร่หลายไม่น้อยกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2524 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นดังกล่าวแต่นายทะเบียนไม่ยอมรับจดให้ อ้างว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 117674 และ 117675 อันมีลักษณะคล้ายคลึงเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอในเดือนมกราคมและมีนาคม 2525 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์จำเลยตกลงกันเอง หรือนำคดีขึ้นสู่ศาล โจทก์ได้ติดต่อเพื่อตกลงกับจำเลยแล้วก็เพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดเพราะจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ประดิษฐ์และใช้มาก่อนสินค้ากาต้มน้ำไฟฟ้าที่จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวขายดีทั้งในและนอกประเทศ จึงผลิตออกขายแข่งกับโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สินค้าโจทก์ขายได้น้อย โจทก์ได้รับความเสียหายวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2524ถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 356 วัน และสำนวนหลังฟ้องเพิ่มเข้ามาว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต แม้จะรู้ว่าโจทก์จำเลยมีข้อโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ากันอยู่ ก็ยังบังอาจขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 117676 อันเป็นคำขอต่อเนื่องจากคำขอจดทะเบียนเลขที่ 117674 และ 117675การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด เพราะจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 117676เป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ประดิษฐ์ใช้มาก่อนแต่ผู้เดียว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่การค้าและความเชื่อถือของลูกค้าโจทก์ทั่วไป สำนวนแรกขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 356,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 1,000 บาทแก่โจทก์ จนกว่าจำเลยจะถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 117674 และ 117675 และเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนและคล้ายคลึงของโจทก์ ให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในเครื่องหมายการค้ารูปอักษรโรมันดับเบิ้ลยู (W) ในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและใต้รูปอักษรโรมันมีอักษรโรมันอ่านออกเสียงว่า”เวลโก้” ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 117674 และ 117675 สำนวนหลังขอให้จำเลยจดทะเบียนถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 117676และทั้งสองสำนวน ขอให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวถ้าจำเลยไม่ยินยอมขอให้คำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย
จำเลยให้การทำนองเดียวกันทั้งสองสำนวนว่า โจทก์จะเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าและใช้เครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง จำเลยได้รับจ้างผลิตสินค้ากาต้มน้ำไฟฟ้าตามฟ้องจริง แต่จำเลยเป็นผู้ยินยอมให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “เวลโก้” ในสินค้าที่โจทก์ว่าจ้าง เพราะจำเลยเป็นผู้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาใช้กับสินค้ากาต้มน้ำไฟฟ้าอยู่ก่อนที่โจทก์จะมาว่าจ้างจำเลย จำเลยมีสิทธิแต่ผู้เดียวในเครื่องหมายการค้าจึงมิได้ละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตค่าเสียหายไม่เป็นความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา “เวลโก้” ได้จดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในสินค้าจำพวก 13 ซึ่งมีรายการสินค้าคลุมถึง “กาต้มน้ำไฟฟ้า” รวมอยู่ด้วย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนไว้แล้วตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือคู่มือรับจดทะเบียน ค.ม.7 เลขที่ (ก)74856 ท้ายคำให้การหมายเลข 1 ในสำนวนแรก แสดงว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้ารายพิพาทเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทเวลโก้อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดซึ่งจดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วที่ประเทศอังกฤษ โจทก์จำเลยจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์ได้ทำสัญญากับบริษัทแอสเทรด จำกัดซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ยินยอมอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรา “เวลโก้” ของบริษัทแอสเทรด จำกัด สำหรับสินค้าที่โจทก์ผลิตในประเทศไทย ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ให้อำนาจโจทก์ดำเนินคดีผู้กระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นของบริษัทเวลโก้อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อน ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของบริษัทเวลโก้อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ก็ตาม แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในสองสำนวนนี้ และไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย อันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 27, 29 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท และขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทนี้ดีกว่ากัน ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์จำเลยได้มีโอกาสสืบพยานของตนอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ซึ่งจะทำให้คดีล่าช้าโดยใช่เหตุ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียว… พยานจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเวลโก้ที่พิพาทกันในคดีนี้มาก่อนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงมิได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share