คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 24 แห่ง พระราชบัญญัติ ศุลกากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา3 แห่ง พระราชบัญญัติ ศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่มิได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล เพราะกำหนดระยะเวลาเรียกคืนสิ่งที่ยึดไว้ภายใน 60 วัน หรือ 30 วันแล้วแต่กรณีนับแต่วันยึดอย่างเดียว หากประสงค์จะให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยก็น่าจะกำหนดระยะเวลาเรียกร้องขอส่งคืนสิ่งที่ยึดนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดไว้ด้วย
พนักงานศุลกากรยึดรถยนต์พิพาทไว้เพราะมีผู้นำของซุกซ่อนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวโดยมิได้ขอให้ริบรถยนต์พิพาท เมื่อรถยนต์พิพาทมิได้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร กรณีการร้องขอคืนของกลางที่มีตัวผู้ต้องหาและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั้นไม่มีบทบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ศุลกากร อีกทั้งรถยนต์พิพาทยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินตาม มาตรา 1327 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมศุลกากร จำเลยที่1 จึงไม่มีอำนาจยึดรถนั้นไว้ การที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมคืนรถให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาท จึงเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดที่ตนได้กระทำส่วนการที่โจทก์ทั้งสองจะนำรถยนต์พิพาทไปรับส่งผู้โดยสารโดยผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการทำละเมิดจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด
จำเลยที่ 1 เพียงแต่ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นเวลานาน การเสื่อมราคาถ้าหากจะมีบ้างก็เป็นการเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งเกลื่อนกลืนไปกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่โจทก์ทั้งสองขาดรายได้จากการใช้รถในระยะเวลาเดียวกันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์โดยสารจำนวน 2 คันจากโจทก์ที่ 1 ไปประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ขณะที่นำรถยนต์ดังกล่าวกลับจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักร ได้มีผู้ลักลอบนำของหนีภาษีเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงยึดรถยนต์ดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้กระทำผิดและมีความเห็นให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ โจทก์มิได้รู้เห็นเป็นใจหรือร่วมกระทำความผิด โจทก์จึงขอรับรถคืน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ยอมคืนรถยนต์ให้โจทก์ โดยแจ้งว่ารถตกเป็นของแผ่นดินแล้ว อันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถทั้ง 2 คันแก่โจทก์ในสภาพเดิม และร่วมกันใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,332,000 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์อีกวันละ 10,000 บาท และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์อีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้ขอรถยนต์คืนภายใน 60 วันนับแต่วันยึดรถยนต์ดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามความเห็นของพนักงานอัยการ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตามฟ้องคันละ 20,000 บาทต่อเดือน ให้โจทก์ทั้งสองนับแต่ วันที่ 14 กันยายน 2522 จนกว่าจำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ทั้งสองคันคืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจเช็คเครื่องยนต์คันละ 20,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่มิได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลเพราะกำหนดระยะเวลาเรียกคืนสิ่งที่ยึดไว้ภายในหกสิบวันหรือสามสิบวันแล้วแต่กรณีนับแต่วันยึดอย่างเดียว หากประสงค์จะให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยก็น่าจะกำหนดระยะเวลาเรียกร้องขอคืนสิ่งที่ยึดนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดไว้ด้วยเจตนารมณ์ของมาตรานี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ซึ่งให้เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ไว้ว่า “ฯลฯ ทั้งการยึดของกลางในการกระทำผิดกฎหมายศุลกากรในกรณีที่ไม่มีตัวผู้ต้องหา กว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน จะต้องยึดไว้จนครบหกเดือน โดยผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาจึงจะตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการล่าช้ามากเกินสมควรโดยไม่จำเป็น ฯลฯ” ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายศุลกากรครั้งนี้ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้ฟ้องผู้มีชื่อรวม 6 คนเป็นจำเลยในความผิดฐานนำของหนีภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ขอให้ริบรถยนต์ตามฟ้องทั้งสองคันด้วย ศาลได้พิพากษาไปแล้ว จะนำมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่การร้องขอคืนรถยนต์ตามฟ้องทั้งสองคันไม่ได้ ดังนั้นรถยนต์ตามฟ้องทั้งสองคันจึงยังมิได้ตกเป็นของแผ่นดินตามบทกฎหมายที่จำเลยที่ 1 อ้างเมื่อจะนำมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับไม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 เป็น “ผู้มีสิทธิ”ตามความหมายของกฎหมายมาตรานี้หรือไม่

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 กระทำไปตามอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนของทางราชการและความเห็นของพนักงานอัยการที่ให้คืนรถยนต์ตามฟ้องก็ไม่ใช่คำพิพากษาจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อรถยนต์ตามฟ้องทั้งสองคันมิได้ตกเป็นของแผ่นดินตาม มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม และกรณีการร้องขอคืนของกลางที่มีตัวผู้ต้องหาและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั้น ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร และรถยนต์ตามฟ้องยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 1327 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะยึดไว้เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถยนต์ตามฟ้องมาจากโจทก์ที่ 2 เมื่อโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ยื่นคำร้องขอคืน จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และผู้มีกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้ยื่นคำร้องขอคืนภายในระยะเวลาตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 รถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินก่อนที่พนักงานอัยการจะมีความเห็นควรคืนแก่เจ้าของ และโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอคืนเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามมาตรา 24 แล้ว เห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของและโจทก์ที่ 2 ผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ตามฟ้องได้รับความเสียหาย จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มีพฤติกาณ์ที่แสดงว่าโจทก์ทั้งสองใช้รถยนต์ตามฟ้องเป็นพาหนะขนของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และนำรถยนต์รับส่งผู้โดยสารโดยผิดกฎหมาย โจทก์จึงไม่ควรได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น ไม่ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองได้ใช้รถยนต์ตามฟ้องเป็นพาหนะขนของเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดที่ตนได้กระทำ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะกระทำความผิดต่อกฎหมายใดบ้างนั้น เป็นคนละเรื่องกับการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะกระทำการดังที่จำเลยที่ 1 อ้างหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด

ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้กำหนดค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ตามฟ้องให้โจทก์ปีละ 180,000 บาทต่อคันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่ยึดรถยนต์ตามฟ้องไว้เป็นเวลานานเท่านั้น การเสื่อมราคาถ้าหากจะมีบ้างก็เป็นการเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งเกลื่อนกลืนไปกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่โจทก์ทั้งสองขาดรายได้จากการใช้รถในระยะเวลาเดียวกันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจซ่อมรถยนต์ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองคันละ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share