คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3389/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานซึ่งจะถือว่าเป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับ ของนายจ้างหรือขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันจะทำให้ สัญญาจ้างไม่มีผลใช้บังคับ ได้แก่การทำสัญญาจ้าง ซึ่งมีข้อตกลง หรือเงื่อนไขผิดไปจากระเบียบข้อบังคับของ นายจ้างหรือข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งกำหนดไว้เพื่อ ประโยชน์ของลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่มีข้อใดกำหนดหรือระบุเป็น ข้อห้ามว่ามิให้โจทก์ทำสัญญาจ้างลูกจ้างโดยกำหนดระยะเวลาจ้างไว้ การที่โจทก์จะจ้างพนักงานซึ่งผ่านพ้นการทดลองปฏิบัติงานมาแล้วเป็นพนักงานทั่วไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตกลงว่าจ้างกันอีกชั้นหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจทำสัญญาจ้างลูกจ้างโดยตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้าง ไว้แน่นอนได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของโจทก์สามนายได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับและสัญญาจ้างแรงงานขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชี้ขาดให้โจทก์รับผู้กล่าวหาทั้งสามกลับเข้าทำงานหรือให้ใช้ค่าเสียหายคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมมีคำสั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้ใช้ค่าเสียหาย โจทก์เห็นว่าโจทก์ทำสัญญาจ้างผู้กล่าวหามีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างได้ และคำวินิจฉัยของจำเลยในเรื่องสัญญาจ้างเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผู้กล่าวหาเป็นลูกจ้างประจำหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างผู้กล่าวหามีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหลังจากผู้กล่าวหาผ่านการทดลองปฏิบัติงานแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เพราะผู้กล่าวหาเป็นลูกจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานเป็นพนักงานทดลองปฏิบัติงาน การที่โจทก์ทำสัญญาจ้างผู้กล่าวหาตามลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงค่าชดเชย สัญญาจ้างไม่มีผลใช้บังคับ การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานซึ่งจะถือว่าเป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับของนายจ้างหรือขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันจะทำให้สัญญาจ้างไม่มีผลใช้บังคับ ได้แก่การทำสัญญาจ้างซึ่งมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขผิดไปจากระเบียบข้อบังคับของนายจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์เป็นเพียงข้อบังคับซึ่งกำหนดแบ่งแยกประเภทลูกจ้างต่าง ๆ ของโจทก์เท่านั้น ไม่อาจแปลได้ว่าเมื่อพนักงานผู้ใดผ่านพ้นการทดลองปฏิบัติงานมาแล้วเป็นพนักงานทั่วไปหรือไม่ นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องว่าจ้างกันอีกชั้นหนึ่งและไม่มีข้อตกลงการจ้างกำหนดหรือระบุเป็นข้อห้ามว่ามิให้โจทก์ทำสัญญากับลูกจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้โจทก์ย่อมมีอำนาจทำสัญญากับผู้กล่าวหา โดยตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20
ส่วนปัญหาว่าการที่โจทก์ทำสัญญาจ้างกับผู้กล่าวหาเป็นการหลีกเลี่ยงค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะทำให้สัญญาไม่มีผลใช้บังคับหรือไม่ นั้น ลำพังสัญญาจ้างอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยว่า การที่โจทก์ทำสัญญาในลักษณะเช่นนี้มีความจำเป็นหรือมีเหตุผลตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยฟังข้อเท็จจริงให้ยุติ จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปัญหานี้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่วินิจฉัยปัญหาว่าการที่โจทก์ทำสัญญากับผู้กล่าวหาเป็นการหลีกเลี่ยงค่าชดเชยหรือไม่ โดยวินิจฉัยแล้วพิพากษาปัญหาข้อนี้ใหม่

Share