คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกมีเจตนาแต่ต้นเพียงเพื่อจะฆ่าผู้ตายเพราะมีสาเหตุกันมาก่อน เมื่อฆ่าผู้ตายสำเร็จแล้วจึงพลอยถือโอกาสเอาปืนของผู้ตายไปด้วย การลักทรัพย์เป็นการกระทำโดยเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังอันเป็นคนละกรรมกับการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายซึ่งขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288,335(7)
เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ คำพิพากษาจะต้องระบุมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไว้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันชิงเอาอาวุธปืนของผู้ตายไปโดยร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340 ตรี, 288, 289, 90, 83

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย 340 ตรี 289(6)(7), 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 289(6)(7) ซึ่งเป็นบทหนัก ลดโทษแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต

โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335(7)รวมสองกระทงลดโทษแล้วคงจำคุก 14 ปี

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกับนายมะก็มีเจตนาแต่ต้นเพียงเพื่อจะฆ่าผู้ตายเพราะมีสาเหตุกับนายมะมาก่อนเท่านั้น เมื่อฆ่าผู้ตายสำเร็จแล้วจึงพลอยถือโอกาสเอาปืนของผู้ตายไปด้วยโดยมิได้แตะต้องทรัพย์อย่างอื่น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แจ้งชัดว่าจำเลยกับพวกฆ่าผู้ตายเพื่อเตรียมการจะชิงทรัพย์ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อเอาทรัพย์แต่เป็นการลักทรัพย์โดยเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลังอันเป็นคนละกรรมกับการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายซึ่งขาดตอนไปแล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังว่าจำเลยร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 335(7) ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ไม่ระบุมาตรา 83 ไว้ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิได้กระทำความผิดโดยลำพัง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 335(7) ประกอบด้วยมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share