คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เด็กหญิง จ. ออกจากบ้านโดยบอกผู้เสียหายที่ 1ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลว่าไปหานางสาว ร. เมื่อพบก็ขอตามไปทำงานที่จังหวัดสระบุรีด้วย นางสาว ร.กับเด็กหญิง จ. ไปหานาย ส.เพื่อขอให้ไปส่งที่บ้านดงบัง และนาย ส. วานจำเลยที่ 1 กับพวกไปส่งแทนก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 กับพวกไม่พานางสาว ร.กับเด็กหญิง จ. ไปส่งที่บ้านดงบัง จำเลยที่ 1 กลับพาเด็กหญิง จ. ไปเที่ยวและค้างคืนที่กระท่อมญาติของจำเลยที่ 1 โดยหาได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทั้งที่ทราบดีว่า นางสาว ร. กับเด็กหญิง จ. จะไปบ้านดงบัง พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ต้องมีการกระทำโดยประมาทและการกระทำโดยประมาทนี้เป็นผล โดยตรงให้เกิดความตาย คำของจำเลยที่ 1 ที่ร้องบอก ให้เด็กหญิง จ. ว่ายน้ำข้ามไป โดยบอกว่าจะลงมาช่วยนั้นคงเป็นแต่เพียงคำชี้แนะ หาได้บังคับให้เด็กหญิง จ. ว่ายน้ำข้ามไปไม่ เมื่อเด็กหญิง จ. ตัดสินใจว่ายน้ำ ข้ามไปและจมน้ำเพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว จนถึงแก่ความตายโดยจำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถช่วยได้จึงนับได้ว่าเป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยของเด็กหญิง จ. เองเหตุความตายหาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ ทั้งมิใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการชี้แนะของ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิง จ. ถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 278, 291, 317 และ 318
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 317 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปีส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยที่ 2เพียงแต่ดึงนางสาวจิรวดี ศรีบาง ผู้เสียหายที่ 3 เข้ามา กอดและตบหน้าผู้เสียหายที่ 3 เพียง 1 ครั้ง มิได้บังคับขู่เข็ญทั้งได้นำผู้เสียหายที่ 3 กลับไปที่กระท่อมและเป็นธุระแจ้งเรื่องเด็กหญิงจรุณี ขันตี จมน้ำถึงแก่ความตายให้ญาติผู้ตายทราบนับเป็นเหตุอันควรปรานี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กหญิงจรุณี ขันตี เป็นบุตรนายเรือง ขันตีกับนางติ๋ม ศรีรัตน์ นายเรืองกับนางติ๋มเลิกร้างกันเด็กหญิงจรุณีอยู่ในความปกครองดูแลของนางเกษร ขันตีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวนายเรือง ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงจรุณีอายุ 14 ปีเศษ ก่อนเกิดเหตุคือวันที่ 7 ตุลาคม 2539เด็กหญิงจรุณีออกจากบ้านโดยบอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะไปหานางสาวจิรวดี ศรีบาง ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2539เด็กหญิงจรุณีจมน้ำถึงแก่ความตายที่ห้วย น้ำไปตำบลพระบาทนาสิงห์กิ่งอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กหญิงจรุณีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวจิรวดีเบิกความเป็นพยานว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ตอนเช้าเด็กหญิงจรุณีมาหาพยานเพื่อขอตามไปทำงานที่จังหวัดสระบุรี หลังจากได้เงินค่าเดินทาง 200 บาท จากปู่ พยานแล้ว พยานกับเด็กหญิงจรุณีไปหานายสมัย ทองนาค เพื่อขอให้พาไปส่งที่บ้านดงบังพบจำเลยที่ 1 นายบุญส่งหรือส่งและนายฉลองหรือหลองไม่ทราบนามสกุลกับพวกอีก 1 คน นายสมัยวานจำเลยที่ 1 กับพวกให้ไปส่งแทนพยานกับเด็กหญิงจรุณีนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายบุญส่งหรือส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายไปอีกคันหนึ่ง แต่นายบุญส่งหรือส่งขับรถจักรยานยนต์พาพยานกลับไปที่บ้านโนนฤาษีและพักค้างคืนที่บ้านเพื่อนนายบุญส่งหรือส่ง รุ่งขึ้นวันที่ 8 นายบุญส่งหรือส่งพาเด็กหญิงจรุณีไปพบจำเลยที่ 1 และพากันมารับพยานไปเที่ยว พยานขอให้นายบุญส่งหรือส่งไปส่งพยานกับเด็กหญิงจรุณีที่บ้านดงบัง นายบุญส่งหรือส่งไม่ยอมพาไป คืนนั้นจำเลยที่ 1 พาพยานกับเด็กหญิงจรุณีไปพักค้างคืนที่กระท่อมของญาติจำเลยที่ 1 จนถึงคืนวันที่ 10ตุลาคม 2539 ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 พบนางสาวจิรวดีกับเด็กหญิงจรุณีครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ที่บ้านของนายบุญส่งหรือส่งโดยอยู่กับเพื่อนนายบุญส่งหรือส่งประมาณ 5 คนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงจึงไม่น่าเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ แต่น่าเชื่อตามคำเบิกความของนางสาวจิรวดีการที่จำเลยที่ 1 พาเด็กหญิงจรุณีไปนอนค้างที่กระท่อมของญาติจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 10ตุลาคม 2539 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลและไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรทั้งก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 1 ก็ทราบดีว่านางสาวจิรวดีกับเด็กหญิงจรุณีต้องการจะไปบ้านดงบัง และในวันที่ 8ตุลาคม 2539 ที่จำเลยที่ 1 กับนายบุญส่งหรือส่งพานางสาวจิรวดีกับเด็กหญิงจรุณีไปเที่ยวนางสาวจิรวดีขอร้องนายบุญส่งหรือส่งให้ไปส่งคนทั้งสองที่บ้านดงบังนายบุญส่งไม่ยอมพาไป แต่จำเลยที่ 1 กลับพานางสาวจิรวดีกับเด็กหญิงจรุณีไปนอนค้างที่กระท่อมของญาติจำเลยที่ 1พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพรากเด็กหญิงจรุณีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลตามฟ้องฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1กับพวกกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิงจรุณีถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จะต้องมีการกระทำโดยประมาทและการกระทำโดยประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย คดีนี้แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวจิรวดีว่า จำเลยที่ 1 ร้องบอกให้เด็กหญิงจรุณีว่ายน้ำข้ามไปโดยบอกว่าจะลงมาช่วยก็ตามก็เป็นแต่เพียงคำชี้แนะของจำเลยที่ 1 หาได้บังคับเด็กหญิงจรุณีให้ต้องว่ายน้ำข้ามไปไม่ เด็กหญิงจรุณีมีอายุ 14 ปีเศษน่าเชื่อว่ามีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถพอที่จะว่ายน้ำข้ามไปได้หรือไม่ การที่เด็กหญิงจรุณีตัดสินใจว่ายน้ำข้ามไปเป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเอง เมื่อเด็กหญิงจรุณีจมน้ำและถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว และจำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถช่วยเด็กหญิงจรุณีได้ ความตายก็หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ทั้งไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการชี้แนะของจำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เด็กหญิงจรุณีถึงแก่ความตายกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยที่ 1 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรของจำเลยที่ 1 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share