แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหาย ขณะเดียวกันได้พูดว่ามึงตายเสียเถอะ ประกอบกับภายในอาวุธปืนของจำเลยที่ 1ก็มีปลอกกระสุนปืนที่ยิงแล้ว 4 ปลอก และคำให้การของจำเลยที่ 1ในชั้นสอบสวนระบุว่าได้เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายแล้วยิง 1 นัดแต่กระสุนปืนไม่ลั่น เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีได้ยิงอีก 4 นัดกระสุนปืนลั่น ทั้งจำเลยที่ 1 แสดงท่าไล่ยิงเล็งอาวุธปืนตรงไปทางผู้เสียหายให้ถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพไว้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าแต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายเพราะกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกาญจนบุรีได้ไป จังหวัดสมุทรสงครามด้วยกัน จำเลยทั้งสองว่าจ้างผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง ผู้เสียหายคิดราคา 80 บาท จำเลยที่ 1ต่อราคาเพราะมีเงินเพียง 100 บาทผู้เสียหายไม่ลดราคา จำเลยที่ 1คิดไม่จ่ายค่าจ้างและชิงเอารถจักรยานยนต์ จึงลวงให้ผู้เสียหายให้ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งอีก ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย ไม่มีโอกาสที่จะสมคบกับจำเลยที่ 1 ได้การที่จำเลยที่ 2 หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยรถจักรยานยนต์คันเดียวนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามี ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2528 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 289, 339, 340 ตรี,371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15และขอให้ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่ามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ปฏิเสธความผิดฐานพยายามฆ่าและชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะจำคุก 6 เดือน ฐานชิงทรัพย์จำคุก 15 ปี รวมโทษจำคุก 16 ปี6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และให้การรับสารภาพในความผิดฐานชิงทรัพย์ในชั้นสอบสวนลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 11 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 6 ปี 8 เดือนริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 339, 340 ตรี, 80 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกตลอดชีวิต คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก33 ปี 4 เดือน รวมกับโทษกระทงอื่นที่ศาลชั้นต้นลงไว้แล้ว รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 34 ปี 4 เดือน และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่นั้นข้อหานี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ปัญหาข้อแรก ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่าจับรถจักรยานยนต์มาได้ครึ่งทาง จำเลยที่ 1บอกให้ผู้เสียหายจอดรถ แล้วจำเลยที่ 1 เดินเข้าไปในสวน เมื่อจำเลยที่ 1 กลับออกมาเข้ามาใกล้ผู้เสียหายก็ใช้อาวุธปืนจ่อศีรษะผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่ามึงตายเสียเถอะ และเหนี่ยวไกปืน แต่กระสุนปืนไม่ลั่น ผู้เสียหายวิ่งหนี จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามมีเสียงอาวุธปืนดัง 4 นัด ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บที่บริเวณหัวไหล่ซ้ายเข้าใจว่าถูกกระสุนปืน นายธงชัย พูลสวัสดิ์ เบิกความว่าผู้เสียหายไปร้องเรียกที่บ้านของพยานบอกว่า ช่วยด้วย กูถูกยิงมาและนายแพทย์สาทิพย์ อ่อนบรรณศิลป์ เบิกความว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลที่หัวไหล่ด้านซ้าย ผู้เสียหายแจ้งว่าถูกยิง เห็นว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ไล่ยิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บที่บริเวณหัวไหล่ด้านซ้ายทันที และมีบาดแผลที่บริเวณดังกล่าว ผู้เสียหายบอกกล่าวต่อบุคคลที่พบว่าถูกยิง ประกอบกับขณะที่จำเลยที่ 1 เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายได้พูดว่ามึงตายเสียเถอะ ภายในอาวุธปืนของจำเลยที่ 1 ก็มีปลอกกระสุนปืนที่ยิงแล้ว 4 ปลอกและคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนระบุว่าได้เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายแล้วยิง 1 นับแต่กระสุนปืนไม่ลั่น เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีได้ยิงอีก4 นัด กระสุนปืนลั่นทั้งจำเลยที่ 1 แสดงท่าไล่ยิงเล็งอาวุธปืนตรงไปทางผู้เสียหายให้ถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพไว้ตามภาพที่ 3ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ได้ยิงผู้เสียหาย ปลอกกระสุนปืนของกลางจำเลยที่ 1 ได้ยิงก่อนวันเกิดเหตุ แต่ไม่ได้เอาออกเห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่มีเหตุผลที่จะเก็บปลอกกระสุนปืนไว้ในอาวุธปืนถึง 4 ปลอกขณะที่พาอาวุธปืนเดินทางไปต่างจังหวัด และการที่กระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายหลายแห่งอาจเป็นเพราะผู้ที่ยิงไม่มีความชำนาญพอก็ได้ ไม่ใช่เหตุผลที่แสดงว่าผู้ยิงไม่มีเจตนาฆ่า เห็นว่า พยานหลักบานของจำเลยที่ 1หักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดดังฟ้อง
ปัญหาข้อที่สองว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองเดินทางมาจังหวัดสมุทรสาครพร้อมกันก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งจำเลยทั้งสองที่บ้านหลังหนึ่งที่สะพาน 1 และจำเลยทั้งสองได้อยู่บ้านดังกล่าวเป็นเวลานานประมาณครึ่งชั่วโมง เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงไม่มีเหตุผลที่จะวางแผนกระทำผิดร้ายแรงที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลและให้ผู้เสียหายไปส่งที่บ้านสะพาน 1 เป็นหลักฐานได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่ปากทางที่จะออกไปสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ผู้เสียหายคิดค่าจ้าง80 บาท จำเลยที่ 1 ต่อราคาลงอีก เพราะมีเงินเพียง 100 บาทแต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 1 จึงคิดไม่จ่ายค่าจ้างและคิดจะชิงรถจักรยานยนต์ จึงลวงให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่สะพาน 1 อีก เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การหลังเกิดเหตุ 1 วันไม่มีเวลาคิดบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าได้ให้การไปตามความจริง และแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตัดสินใจกระทำผิดแต่เพียงคนเดียว เพราะตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย ไม่มีโอกาสที่จะสมคบกับจำเลยที่ 1 ได้และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมาส่วนข้อที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ได้วิ่งหลบหนีไปหลบซ่อนที่หลังบ้านหลังหนึ่ง ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 40 เมตร ได้ยินจำเลยที่ 2พูดว่าพอแล้วไม่ต้องไล่ยิง มาเอารถไปเลย เห็นว่า ขณะนั้นผู้เสียหายน่าจะมีความกลัวและตกใจจึงไม่มีเหตุผลที่จะไปหลบซ่อนในระยะห่างเพียง 40 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ น่าจะไปหลบซ่อนในระยะที่ไกลพอสมควร ในกรณีเช่นนี้ผู้เสียหายไม่น่าจะได้ยินจำเลยที่ 2พูดห้ามจำเลยที่ 1 หรือบอกให้มาเอารถไป การที่จำเลยที่ 2หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยรถจักรยานยนต์คันเดียวกันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าด้วย ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน