แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทมีน.ส.3ก.ที่ทางราชการออกให้แก่มารดาโจทก์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน5ปีตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511มาตรา12ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวมารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและมอบการครอบครองให้แล้วแต่การซื้อขายมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน5ปีการซื้อขายจึงไม่ถูกต้องตามแบบและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิม ส่วนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้รับโอนดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของแม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ยังคงถือว่าการครอบครองไว้แทนตลอดมาจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1381หรือจนกว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตามมาตรา1377,1379 การที่โจทก์รื้อบ้านไปในระยะเวลาห้ามโอนผลก็เท่ากับการสละเจตนาครอบครองเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามโอนตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทนจึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1374 ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินไม่ถูกต้องไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค1ว่าไม่ถูกต้องผิดพลาดอย่างไรเป็นฎีกาไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดิน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เดิมเป็นของนางทองมารดาโจทก์ มารดาโจทก์ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ทั้ง 2 ฉบับ มอบให้จำเลยไว้เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน เมื่อมารดาโจทก์ตาย โจทก์ได้ขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลง ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์ขอให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) คู่ฉบับให้แก่เจ้าพนักงาน แต่จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ยังมิได้กรอกข้อความให้จำเลยไว้เพื่อนำไปใช้ในการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) คือ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการจดทะเบียนรับมรดกให้โจทก์แล้ว โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนมรดกให้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529 ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แก่จำเลยและขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 2 ฉบับ คืนจำเลยกลับอ้างว่าที่ดิน ตกเป็นของจำเลยแล้ว และนำใบมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อให้ไว้ไปกรอกข้อความอันเป็นเท็จว่าโจทก์ขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยและได้รับเงินไปแล้ว และจัดการจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงเป็นของจำเลยด้วยการรู้เห็นเป็นใจของผู้ใหญ่บ้านและเจ้าพนักงานที่ดิน ความจริงโจทก์ไม่เคยตกลงขายและได้รับเงินมาแต่อย่างใด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยจัดการจดทะเบียนเพิกถอนการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับ แก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินจำนวน 40,000 บาท จากโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับ สูญหายใช้การไม่ได้อีกต่อไปกับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินทั้ง 2 แปลง
จำเลยให้การว่า มารดาโจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เมื่อมารดาโจทก์ทำประโยชน์จนได้รับผลผลิตแล้ว ทางราชการก็ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้ โดยมีกำหนดห้ามโอนภายในระยะเวลา5 ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2525 มารดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และมอบการครอบครองที่ดินให้จำเลย และยินยอมจะไปจดทะเบียนให้เป็นของจำเลยเมื่อครบกำหนด 5 ปี ครั้นครบกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท จำเลยจำต้องให้เงินโจทก์จำนวน40,000 บาท เป็นค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์จึงยอมลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้จำเลยไปโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยความยินยอมของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งรับเงินจำนวน 40,000 บาท จากโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 1รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ทางราชการออกให้แก่นางทองมารดาโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปีตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวมารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว แต่การซื้อขายดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และที่พิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน 5 ปี การซื้อขายที่ดินระหว่างนางทองมารดาโจทก์กับจำเลยจึงไม่ถูกต้องตามแบบและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมดังนั้นการครอบครองของผู้รับโอนจึงต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของ แม้จะพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังคงถือว่าครอบครองไว้แทนตลอดมาจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 หรือจนกว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตามมาตรา 1377, 1379 ส่วนที่โจทก์รื้อบ้านไปในระยะเวลาห้ามโอน ผลก็เท่ากับการสละเจตนาครอบครองเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามโอนตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทน จึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1374 ส่วนฎีกาจำเลยข้อ 5 (ก) (ข) เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องผิดพลาดอย่างไรคงคัดค้านเพียงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินไม่ถูกต้อง จึงเป็นฎีกาไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน