คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3371/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กล่าวว่านายอำเภอพิมพ์หนังสือขาย แล้วไม่นำเงินไปซื้ออาวุธแจกประชาชนตามที่โฆษณาไว้ ฯลฯ เป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ส่อไปตามที่จำเลยพูดโฆษณา เป็นการกล่าวโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับคนที่สมัครเป็นแพทย์ตำบล ซึ่งนายอำเภอดำเนินการไม่เรียบร้อย เป็นการติชมการปฏิบัติงานของนายอำเภอ ไม่เป็นหมิ่นประมาท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อความที่จำเลยพูดตามเอกสารหมาย จ.1ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายก็คือ จำเลยกล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นภัยสังคมที่อยู่ในเครื่องแบบมหาดไทย ผู้เสียหายไม่นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือไปซื้ออาวุธแจกประชาชนไว้ป้องกันหมู่บ้านตามวัตถุประสงค์ที่โฆษณาไว้ผู้เสียหายปฏิบัติหน้าที่เลือกตั้งแพทย์ประจำตำบลหันทรายโดยทุจริต และผู้เสียหายไม่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรคนไทยตามนโยบายของรัฐบาลเท่าที่ควร กลับไปเอาใจใส่ดูแลศูนย์เขมรอพยพปล่อยเขมรอพยพเป็นอิสระเสมือนผู้ครองแผ่นดินไทย

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความตามที่โจทก์ฎีกานั้น เมื่ออ่านข้อความตามเอกสารหมาย จ.1 ทั้งหมดแล้ว เข้าใจได้ว่าจำเลยมุ่งจะกล่าวหานายอำนวย น้อยเชื้อเวียง ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภออรัญประเทศในขณะนั้นปัญหาเรื่องจำเลยจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า ได้มีการพิมพ์หนังสือบันทึกภาพเหตุการณ์เขมรฆ่าโหดคนไทย 30 ศพ จำหน่ายในราคาเล่มละ 20 บาท โดยแจ้งวัถตุประสงค์ว่า รายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด จะนำไปช่วยซื้ออาวุธให้ราษฎรชายแดนคุ้มครองหมู่บ้าน อำเภออรัญประเทศหนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกสีเขียว จำนวน 10,000 เล่ม จำหน่ายได้หมดแล้ว และได้มีการพิมพ์ขึ้นจำหน่ายเป็นครั้งที่สองเป็นปกสีดำ ไม่ทราบจำนวนที่พิมพ์ นายประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือฉบับนี้ร่วมกับผู้เสียหาย เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานเคยไปหาผู้เสียหายสอบถามเรื่องจะซื้ออาวุธปืนให้ราษฎรถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบให้เป็นที่พอใจ ผู้เสียหายพูดกับพยานว่า เรื่องปืนนั้น จะซื้อหรือไม่เป็นเรื่องของทางราชการ ไม่จำต้องบอกให้พยานทราบ ร้อยตำรวจโทภูษิต ผลสุขพยานจำเลยซึ่งรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศก็เบิกความว่า ไม่เคยเห็นทางอำเภอแจกอาวุธปืนให้ประชาชนเพื่อใช้ป้องกันตัว เรื่องทุจริตในการเลือกตั้งแพทย์ประจำตำบล จำเลยเป็นผู้สมัครเลือกตั้งเป็นแพทย์ประจำตำบล ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ดำเนินคดีอาญากับผู้เสียหายในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ในการเลือกตั้งแพทย์ประจำตำบล และได้ยื่นเรื่องราวกล่าวโทษผู้เสียหายต่อหน่วยราชการหลายแห่ง รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยและกรมตำรวจ ผลการสืบสวนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานต่อผู้บังคับบัญชาก็ปรากฏว่าการเลือกตั้งแพทย์ประจำตำบลเป็นไปโดยไม่ชอบต่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 45 และระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของผู้เสียหายมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจะเป็นไปตามที่จำเลยพูดโฆษณา จำเลยมิได้พูดว่ากล่าวผู้เสียหายโดยเลื่อนลอยหรือปราศจากหลักฐาน จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม โดยเฉพาะการกล่าวหาผู้เสียหายว่าทุจริตในการเลือกตั้งแพทย์ประจำตำบลนั้น เป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอีกด้วยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329

ส่วนที่จำเลยกล่าวหาว่าผู้เสียหายไม่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรคนไทยนั้นจำเลยกล่าวมีใจความว่า ได้รับหนังสือนายเย็น พลเสรี ราษฎรไทยอยู่ที่ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบราษฎรไทยชายแดนหลังวัดชนะชัยศรี หรือวัดเกาะ จำนวน 32 ครอบครัว ประชากร 180 คน ว่ามิได้รับการอนุเคราะห์จากนายอำนวย น้อยเชื้อเวียง นายอำเภออรัญประเทศ เมื่อไปขอให้นายอำเภอช่วยเหลือเรื่องน้ำดื่ม ยารักษาโรคและเครื่องอุปกรณ์ในการบริโภคตามจำนวนความจำเป็น จำเลยกับพวกรู้สึกน้อยใจที่เป็นคนไทยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย มิได้รับการเหลียวแลจากผู้มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรตามนโยบายของรัฐบาลเท่าที่ควร ผิดกับศูนย์เขมรอพยพ ซึ่งนายอำนวย น้อยเชื้อเวียงนายอำเภออรัญประเทศเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ปล่อยเป็นอิสระภาพเสมือนผู้ครองแผ่นดินไทย จำเลยกับพวกของรับความช่วยเหลือจากผู้ร่วมชาติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดแก่ราษฎร 32 ครอบครัว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมิได้ว่ากล่าวให้ร้ายผู้เสียหายในเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการกล่าวติชมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้เสียหายด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำได้ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share