คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอ้างว่ามีที่อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ตามสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชน แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่ศาลไปส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์ หมายนัดฟังคำพิพากษา และอื่น ๆให้แก่จำเลยที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่าคนข้างบ้าน บุตรสาว และคนในบ้านของจำเลยแจ้งว่าจำเลยไปธุระต่างจังหวัดบ้าง ไปธุระนอกบ้านบ้างทุกครั้งแสดงว่าจำเลยอยู่ที่บ้านที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบกับบ้านที่จังหวัดนครสวรรค์นั้นถูกรื้อไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยเองว่า จำเลยอาศัยอยู่ที่บ้านของพี่สาวเมื่อเดินทางไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมีถิ่นที่อยู่สองแห่ง คือที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งถือว่าทั้งสองแห่งนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ฉะนั้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน1,144,068.15 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 886,440 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 350หมู่ 3 ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์) ไม่ได้ เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกไปยังบ้านเลขที่ 94 หมู่ 7 ตำบลซับน้อย อำเภอวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเคยรับเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจากโจทก์โดยโจทก์ให้จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ไว้หลังจากจำเลยทั้งสองเก็บเกี่ยวผลผลิตโจทก์ก็มารับซื้อและหักหนี้กันไม่มีหนี้ค้างชำระต่อกันอีก หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เพราะลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ต้องเขียน “ประสิทธิ์” ไม่ใช่ “สิทธิ์” ดังในหนังสือรับสภาพหนี้และจำเลยที่ 2 ไม่เคยพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน956,069 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน886,440 บาท นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่าคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน956,069 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน886,440 บาท นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระแทนจนครบนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์) ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างตัวเองเป็นพยานเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องขอยื่นคำให้การว่า จำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านเลขที่ 350 หมู่ 3 ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ตามสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.3 นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังเบิกความด้วยว่าต่อมาบ้านหลังดังกล่าวถูกรื้อไปประมาณ 3 ปี แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านเลขที่ 353หมู่ 3 ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อรื้อบ้านแล้วได้ไป ๆ มา ๆ ระหว่างบ้านเลขที่ 94หมู่ 7 ตำบลซับน้อย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กับบ้านพี่สาวที่จังหวัดนครสวรรค์และในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองเบิกความว่าบ้านเลขที่ 350 หมู่ 3 ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ถูกรื้อไป 20 ปี แล้วและยังไม่ได้สร้างใหม่ เห็นว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ศาลไปส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์ หมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หมายนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองที่บ้านเลขที่ 94 หมู่ 7ตำบลซับน้อย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่า คนข้างบ้าน บุตรสาวและคนในบ้านของจำเลยทั้งสองบอกว่าจำเลยทั้งสองไปธุระต่างจังหวัดบ้าง ไปธุระนอกบ้านบ้างทุกครั้งแสดงว่าจำเลยทั้งสองอยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ 7 ตำบลซับน้อย อำเภอวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบกับบ้านเลขที่ 350 หมู่ 3 ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโกจังหวัดนครสวรรค์ ถูกรื้อไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ไม่มีบ้านหลังนี้เป็นสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญของจำเลยทั้งสองอีกต่อไปแล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ทั้งในชั้นไต่สวนคำร้องขอยื่นคำให้การและในชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ที่บ้านพี่สาวเมื่อเดินทางมาที่ตำบลทำนบอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีถิ่นที่อยู่สองแห่งคือที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งถือว่าทั้งสองแห่งนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ฉะนั้นที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์) จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่าหนังสือรับสภาพหนี้และหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายดาบตำรวจสุทธี หอมชาติเบิกความว่า หลังจากตกลงยอดหนี้กันแล้วนายดาบตำรวจสุทธีจึงได้กรอกข้อความลงในแบบพิมพ์หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 นายดาบตำรวจสุทธีเบิกความด้วยว่าเมื่อกรอกข้อความในเอกสารหมาย จ.4 เสร็จได้อ่านให้จำเลยที่ 1 ฟัง และจำเลยที่ 1 ได้นำไปอ่านเองด้วยเสร็จแล้วจำเลยที่ 1จึงลงลายมือชื่อในช่องผู้รับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 2 ได้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้ค้ำประกันด้านหลังเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก โจทก์เคยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เรื่องเงินมาหลายครั้งไม่เชื่อว่าโจทก์จะทำเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นไม่ตรงตามความจริงนายดาบตำรวจสุทธีเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาส่งไปคุ้มครองโจทก์ ไม่มีส่วนได้เสียในคดีและเป็นผู้รู้เห็นในการที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารหมาย จ.4 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เชื่อว่าพยานปากนี้เบิกความไปตามความจริง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สัญญากู้เอกสารหมาย จ.5 โจทก์อ้างว่าเป็นสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1กู้เงินจากโจทก์ ซึ่งในช่องผู้กู้ลงลายมือชื่อว่า “สิทธิ์ พรมมา” จำเลยที่ 1ไม่ได้นำพยานเข้านำสืบหักล้างว่าในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1จึงฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในเอกสารหมาย จ.5 เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในช่องผู้รับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งลงไว้ว่า “สิทธิ์ พรมมา” และเขียนไว้ในวงเล็บใต้ลายมือชื่อว่า “(สิทธิ์ พรมมา)” แล้วเห็นว่าในส่วนของลายมือชื่อมีลักษณะและลีลาการเขียนคล้ายกัน และการสะกดตัวอักษรก็ปรากฏว่าลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.5 สะกดตรงกับชื่อในวงเล็บของเอกสารหมาย จ.4จึงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 ด้านหลังเอกสารหมาย จ.4 จำเลยทั้งสองก็นำสืบลอย ๆ ว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 เท่านั้น การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1รู้จักกันมาแต่เด็ก โจทก์จะรู้จักจำเลยที่ 1 ในนามว่าประสิทธิ์หรือสิทธิ์หรือสิทธ์และการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 ว่าสิทธ์ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญให้ฟังได้ถึงขนาดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1และการที่โจทก์ไม่ส่งเอกสารหมาย จ.4 ไปตรวจพิสูจน์ก็เป็นสิทธิของโจทก์ไม่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารที่แท้จริง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share