คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแม้ว่าทิ้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่นำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้ ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการระหว่างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ จำเลยได้ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหายกล่าวคือ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โจทก์ตรวจพบว่าสินค้าซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยขาดบัญชีไปเป็นเงิน262,928.50 บาท ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2527 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530โจทก์ได้ตรวจนับสินค้าของโจทก์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยต่อหน้าจำเลยพบว่าสินค้ามีดชนิดต่าง ๆ ของโจทก์ขาดหายไป 119 รายการ เป็นจำนวนมีด 6,034 เล่ม คิดราคาทุนเป็นเงิน 122,848.50 บาท และมีสินค้ามีดเกินไป 34 รายการเป็นจำนวนมีด 783 เล่ม คิดราคาทุนเป็นเงิน 7,472.45 บาทหักกลบกันแล้วสินค้าขาดหายไปเป็นเงิน 115,376.50 บาท นอกจากนี้จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ครั้งที่ 10/2527 ลงวันที่14 กันยายน 2527 ซึ่งให้อำนาจจำเลยขายสินค้าเงินเชื่อได้ไม่เกินวงเงินรายละ 30,000 บาท แต่จำเลยได้ขายสินค้ามีดเงินเชื่อแก่นายถาวร สัมมาขันธ์ เป็นเงิน 30,523.50 บาทนายขจร อารยะกูล เป็นเงิน 37,692 บาท และจ่าสิบเอกมานพ อิ่มทรัพย์ เป็นเงิน 49,475 บาท ซึ่งลูกหนี้ทั้งสามรายนี้เป็นหนี้โจทก์มาตั้งแต่ปี 2527 จำเลยไม่เคยมีหนังสือติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ทำให้โจทก์ไม่อาจฟ้องร้องให้ชำระหนี้ได้เพราะขาดอายุความฟ้องร้อง โจทก์ต้องสูญเสียเงินค่าสินค้าไป117,690.50 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 394,716.55 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญารับสภาพหนี้อัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงิน 106,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า ตามที่โจทก์ตรวจพบว่าสินค้าขาดบัญชีไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2526 นั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทำบัญชีผิดพลาด และผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ถึงเดือนมีนาคม 2530 จำเลยถูกเลิกจ้างก่อนกำหนด ส่วนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530 โจทก์ตรวจนับสินค้าต่อหน้าจำเลยพบสินค้ามีดขาดหายไปหักกลบแล้วคิดเป็นเงิน 115,376.05 บาท นั้นจำเลยไม่ได้เป็นผู้ลงบัญชีตรวจนับสินค้า หากเกิดความเสียหายดังที่โจทก์ฟ้องนางวันทนี ใจชื้น ผู้ลงบัญชี นางสาววัลภา คำศรีผู้ตรวจนับสินค้า และนายเดย กิ่งจันทร์ คนงานห่อมีดซึ่งร่วมปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกัน จะต้องรับผิดชอบตามส่วนการที่โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องคดีบุคคลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นความผิดของจำเลย โจทก์มีผู้ตรวจสอบบัญชีทำการตรวจสอบบัญชีเป็นประจำและไม่มีรายงานการประชุมประจำเดือนให้จำเลยดำเนินการ จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง และขอฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน4,899.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ขอให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 221,376.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงิน 106,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงิน 106,000 บาทเสร็จ ทั้งให้ชำระดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง ไม่เกิน 55,650 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่าตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าของโจทก์ที่ขาดหายไปเพราะจำเลยทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้นขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหาย ดังนั้น ฟ้องเดิมจึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ว่าทิ้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณากับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share