คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนพิพาท การที่โจทก์ได้ให้บริษัทอื่นเช่าโรงเรือนพิพาทเป็นสำนักงานบางส่วน นอกนั้นโจทก์ใช้เป็นสำนักงานฝ่ายบริหารและติดต่อธุรกิจของโจทก์ บางหลังใช้เป็นห้องรับประทานอาหารของพนักงานโจทก์บางหลังใช้สำหรับติดตั้งเครื่องทำความเย็นและใช้เป็นโรงจอดรถของพนักงานโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์อยู่เอง หรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช2475 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 3 โจทก์จึงมิได้รับงดเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ ๒ และให้จำเลยร่วมกันคืนเงินภาษีโรงเรือนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ใช้ประโยชน์ในโรงเรือนเพื่อเป็นสถานที่ดำเนินการประกอบอุตสาหกรรมและประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยใช้เป็นสถานที่ให้ลูกค้ามาติดต่อทำการซื้อขายสินค้า เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการค้าและอุสาหกรรมของโจทก์ แสดงว่าโจทก์ได้ใช้อาคารดังกล่าวแสวงหาประโยชน์ตอบแทนให้กับบริษัทโจทก์โดยตรง มิได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยแท้จริงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ หมายถึงการใช้โรงเรือนเพื่ออยู่อาศัย เพื่อกินอยู่หลับนอน ลักษณะการใช้โรงเรือนของโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความศาลแถลงไม่ติดใจสืบพยานอื่นต่อไป นอกจากข้อเท็จจริงที่รับกันและเอกสารตามที่อ้าง โดยขอให้ศาลชี้ขาดไปตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ว่า ทั้งสองฝ่ายรับกันว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เหมือนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๕๔๘/๒๕๒๓ ของศาลแพ่ง (คือคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๐๒/๒๕๒๕) และทั้งสองฝ่ายขออ้างสำนวนดังกล่าว และสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๖๔๙๐/๒๕๒๓ ของศาลแพ่ง (คือคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๓๕/๒๕๒๖) กับเอกสารหมาย จ.ล.๑ – ๕ เป็นพยาน
ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันดังกล่าวได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือน (ตึก ๘ ชั้น) เลขที่ ๑๐๔๓ ซึ่งโจทก์ได้ให้บริษัทอื่นเช่าเป็นสำนักงานเฉพาะชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ และชั้นที่ ๘ บางส่วน นอกนั้นโจทก์ใช้เป็นสำนักงานฝ่ายบริหารและติดต่อธุรกิจของโจทก์ โรงเรือน (ตึก ๒ ชั้น) เลขที่ ๑๐๔๕ โจทก์ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารของพนักงานของโจทก์ และโรงเรือนชั้นเดียวอีก ๒ หลัง โจทก์ใช้สำหนับติดตั้งเครื่องทำความเย็น และใช้เป็นโรงจอดรถของพนักงานของโจทก์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โรงเรือนในส่วนที่โจทก์ใช้เป็นสำนักงานฝ่ายบริหารและติดต่อธุรกิจ ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารและใช้ติดตั้งเครื่องทำความเย็น กับใช้เป็นโรงจอดรถดังกล่าว โจทก์จะได้รับงดเว้นภาษีโรงเรือนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๐ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรมท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป” จากบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ใช้โรงเรือนเป็นสำนักงานฝ่ายบริหารและติดต่อธุรกิจก็ดี ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารของพนักงานของโจทก์หรือใช้ติดตั้งเครื่องทำความเย็นและใช้เป็นโรงจอดรถของพนักงานของโจทก์ก็ดี ถือไม่ได้ว่าโจทก์อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา ตามความหมายของบทกฎหมายมาตราดังกล่าว เพราะคำว่า “อยู่” ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวเองว่า ว่าหมายความถึง พักหรืออาศัย แม้โจทก์จะเป็นนิติบุคคล การอยู่เองของโจทก์ก็ต้องอยู่ในความหมายของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๐ ดังกล่าว เช่นกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๐๕/๒๕๒๘ ระหว่างบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด โจทก์ กรุงเทพมหานคร กับพวก จำเลย ซึ่งพิพากษาโดยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๑/๒๕๑๘ ๖๖๐/๒๕๒๐ และ ๓๖๐๒/๒๕๒๕ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ถูกทับโดยคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๐๕/๒๕๒๘ แล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงมิได้รับงดเว้นการเสียภาษีโรงเรือนตาม มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share