คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในคดีแพ่งได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ แม้จำเลยจะคัดค้านเมื่อศาลเห็นว่าการถอนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีก็อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,894,828.78 บาท จำเลยจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายเดือน หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยยังคงค้างต้นเงิน 842,574.21 บาทต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ ขอให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์แต่จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง จึงคงค้างเพียง 691,328 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานแล้วมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยคัดค้านว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 สิงหาคม 2531 ศาลให้โอกาสโจทก์แถลงรายการหนี้สินภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จึงขอคัดค้านการที่โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2531ศาลกำชับฝ่ายโจทก์ว่าให้แถลงต่อศาลภายใน 7 วันถึงรายการหนี้สินที่โจทก์ฟ้องจำเลย แต่ไม่ได้กำชับให้โจทก์แสดงหลักฐานรายการเกี่ยวกับหนี้สิน เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า เมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 11 สิงหาคม 2531 โจทก์แถลงขอเลื่อนการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นว่าขอตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับหนี้สินของจำเลยก่อน หากจำเลยไม่เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จะถอนฟ้องภายใน 7 วัน จำเลยแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 กันยายน 2531และกำชับว่าหากโจทก์ไม่แถลงภายใน 7 วัน เกี่ยวกับหนี้สินของจำเลยถือว่าจำเลยไม่เป็นหนี้สินโจทก์ตามฟ้อง และศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นเวลาภายใน 7 วัน ตามที่กำหนด โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่าที่ฟ้อง ขอสืบพยานตามวันนัดต่อไป ครั้นวันที่20 กันยายน 2531 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 668,128.78 บาทแต่พนักงานของโจทก์แจ้งยอดหนี้เงินผิดโดยไม่ได้แจ้งยอดเงินบางส่วนให้ทนายความของโจทก์ ทนายความของโจทก์จึงฟ้องขาดเงินไม่ได้เรียกจากจำเลยอีก 668,128.78 บาท จำเลยแถลงคัดค้าน มีปัญหาในชั้นนี้ว่าคำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นชอบหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175บัญญัติไว้ความว่า ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้แต่ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน แสดงว่าการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ขอถอนฟ้องขัดต่อคำแถลงของโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับวันที่ 11สิงหาคม 2531 และโจทก์ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพราะไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และชี้สองสถานไปแล้ว การถอนฟ้องของโจทก์จึงจงใจทำให้จำเลยเสียหายและเอาเปรียบจำเลย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตศาลต้องไม่อนุญาตและต้องสั่งว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามคำสั่งศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 11 สิงหาคม 2531 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามคำแถลงของโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่11 สิงหาคม 2531 โจทก์ได้แถลงเกี่ยวกับหนี้สินของจำเลยต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดแล้ว กล่าวคือ แถลงต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2531 โดยแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนมากกว่าที่ฟ้อง จึงเห็นว่าการใช้สิทธิถอนฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย หากถอนฟ้องแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ จำเลยก็มีสิทธิต่อสู้คดีเต็มที่เช่นกันการที่ฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะคดีย่อมแล้วแต่พยานหลักฐานของคู่กรณีตรงกันข้ามหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอาจจะได้เปรียบในเชิงคดีก็เป็นได้ เพราะหากจำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่าที่ฟ้องจำเลยอาจไม่ต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้สิทธิไม่สุจริตเอาเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share