แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ต้องรับผิดในหนี้สินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. เป็นหนี้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 190,000 บาทเศษ โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ทั้งหมดดังกล่าวได้
จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ไม่ได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจ ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด เป็นหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า แก่โจทก์อยู่เป็นเงินทั้งสิ้น 199,697.89 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวของห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจ โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจจำเลยได้ชำระค่าภาษีของห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจให้โจทก์ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์ จำเลยไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยตาย โจทก์ขอให้เรียกทายาทของจำเลยเข้ามาในคดีแทนจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้นายสมศักดิ์ ศรีสะอาดบุตรของจำเลยเข้ามาในคดีแทนจำเลยต่อไป
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจเป็นหนี้ค่าภาษีแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 199,697.89 บาท จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ประมาณ 8,000 บาทเท่านั้นแล้วไม่ชำระหนี้ดังกล่าวอีก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจ จึงต้องรับผิดในหนี้สินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจเป็นหนี้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 190,000 บาทเศษโจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจทั้งหมดดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง หาใช่ไม่มีอำนาจฟ้องดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ คดีนี้จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 199,697.89บาท เมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ประมาณ 8,000 บาทแล้ว ไม่ชำระหนี้ดังกล่าวอีก จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้เพราะเหตุดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวนอกจากนั้นโจทก์มีนายพงษ์เฉลียว เขม้นดี ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอำนาจเจริญ และนายประชุม ศรีโรจน์ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาอุบลราชธานี เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารดังกล่าวโดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยหลายแปลงไว้เป็นประกันซึ่งอยู่ระหว่างบังคับคดีและชำระหนี้ ทั้งโจทก์มีนายอุดมเพิ่มพูนวิวัฒน์ สรรพากรจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพยานเบิกความประกอบกับสำเนาหนังสือของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีที่ อบ 0006/9219 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2532 เอกสารหมาย ปจ. ชม. 5 ได้ความว่า อำเภออำนาจเจริญยึดที่ดินของจำเลยที่ติดจำนองธนาคารทั้งสองดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีแก่โจทก์แล้วแต่ไม่มีบุคคลใดสนใจเข้าสู้ราคา และยังขายไม่ได้ จึงแจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีล้มละลายกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพงษ์ไทยอำนาจและจำเลย จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งแต่อย่างใดจำเลยเพียงแต่มีตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารทั้งสองดังกล่าวหากจำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ก็พอมีเงินชำระหนี้ให้แก่ธนาคารและโจทก์ได้ เป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ หามีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้วไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ดังที่โจทก์ฎีกาขอมาไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84”
พิพากษากลับ ให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ (จำเลย) ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84