คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรมาตรา 78 บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษี โดยผู้ประกอบการค้าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อเจ้าพนักงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปพร้อมกับชำระค่าภาษีตามมาตรา 85 ทวิ และ 86 ด้วยนั้น เป็นการชำระค่าภาษีการค้าล่วงหน้าไปก่อนตามรายการที่ยื่นไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบรายการที่ยื่นเห็นว่าถูกต้องและพอใจ ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้ค่าภาษีโดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนเงินค่าภาษีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ จะถือว่าค่าภาษีสำหรับรายการดังกล่าวนั้นได้ถึงกำหนดชำระด้วยแล้วหาได้ไม่ เพราะเมื่อยังไม่ได้ยื่นแสดงรายการก็ยังไม่มีค่าภาษีที่ต้องชำระ แต่เมื่อเจ้าพนักงานอาศัยอำนาจตามมาตรา 19, 20 ทำการไต่สวนและประเมินค่าภาษีใหม่สำหรับรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องครบถ้วน และสั่งให้นำเงินภาษีไปชำระเพิ่มเติมภายใน 30 วันแล้ว ค่าภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มเติมใหม่นี้ก็ย่อมถึงกำหนดชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานได้แจ้งไป
หนี้ค่าภาษีอากรที่ลูกหนี้จะต้องเสียและถึงกำหนดชำระภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น กฎหมายยอมให้เจ้าหนี้เข้ามาขอรับชำระหนี้ได้ และเมื่อหนี้ค่าภาษีนี้เป็นหนี้ที่จะได้รับในลำดับก่อนหนี้อื่น ๆ แล้ว ก็หาทำให้การที่จะได้รับชำระหนี้นั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 22/2506)

ย่อยาว

คดีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครเจ้าหนี้รายที่ ๑๓ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิค่าภาษีการค้าซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดจินตนาวาณิชย์ผู้ล้มละลายค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๑,๖๗๕.๔๔ บาท โดยอ้างและส่งสำเนาแบบ ภ.ค.๘ ซึ่งเจ้าพนักงานแจ้งการประเมินภาษีต่อผู้ล้มละลายประกอบคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ผู้ล้มละลายค้างชำระภาษีทั้งสิ้น ๗๑,๖๗๕.๔๔ บาท จริง แต่เป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระพ้นกำหนด ๖ เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่เข้าลักษณะที่จะให้บุริมสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาม พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๖) เห็นควรให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา ๑๓๐(๘)
ศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์คำสั่ง ว่าเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา ๑๓๐(๖) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนี้ค่าภาษีการค้ารายนี้เป็นเงินที่ผู้ล้มละลายมิได้ยื่นรายการหรือยื่นรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ จะถือว่าเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้วหาได้ไม่ เงินภาษีการค้ารายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานตรวจพบแล้วแจังให้ผู้ล้มละลายชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมีสิทธขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิได้ตามมาตรา ๑๓๐(๖) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ จึงพิพากษาแก้ให้รับชำระหนี้ได้ฐานเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา ๑๓๐(๖)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีการค้ารายนี้ไม่เข้าลักษณะที่จะให้บุริมสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๖)
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ค่าภาษีรายนี้กองตรวจภาษีอากรกรมสรรพากรได้ตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยผู้ล้มละลายได้ยื่นรายการเสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย จึงแจ้งไปยังผู้ล้มละลายตามแบบ ภ.ค.๘ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ ให้นำเงินภาษีไปชำระในกำหนด ๓๐ วัน คือ
(๑) ภาษีการค้าประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๐ เงิน ๕๙๓๕.๕๕ บาท เพิ่มร้อยละ ๒๐ เพราะไม่ชำระภาษีตามมาตรา ๒๒ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน ๗,๑๒๒.๖๖ บาท กับค่าบำรุงภาษีเทศบาลร้อยละ ๑๐ ซึ่งเมื่อเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ แล้วเป็นเงิน ๗๑๒.๒๖ บาท รวม ๗,๘๓๔.๙๒ บาท
(๒) ค่าภาษีการค้าประจำเดือน มิถุนายน – ธันวาคม ๒๕๐๑ เงิน ๔๘,๓๖๔๐๔ บาท เพิ่มเพราะไม่ชำระภาษี ๕๘,๐๓๖.๘๔ บาท ค่าภาษีบำรุงเทศบาล ๕,๔๐๓.๖๘ บาท รวม ๖๓,๘๔๐.๕๒ บาท
รวมทั้งสองรายการเป็นเงิน ๗๑,๖๗๕.๔๔ บาท ซึ่งเงินค่าภาษีจำนวนนี้มีปัญหาว่จะเป็นหนี้บุริมสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๖) หรือเป็นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา ๑๓๐(๘)
มาตรา ๑๓((๖) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มีความว่า “ในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ให้ชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามลำดับดั่งต่อไปนี้
(๖) ค่าภาษีอากรและจังกอบที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
คดีนี้ปรากฎว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๔ คดีมีปัญหาจะวินิจฉัยเพียงว่า ค่าภาษีการค้ารายนี้ถึงกำหนดชำระเมื่อใดแน่ ถ้าถึงกำหนดชำระภายใน ๖ เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ก็เป็นหนี้ที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๖) มิฉะนั้นก็จะได้รับในฐานะอื่นตามมาตรา ๑๓๐(๘)
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๘ บัญญัติไว้ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษี โดยผู้ประกอบการค้าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป พร้อมกับชำระค่าภาษีด้วยตามมาตรา ๘๕ ทวิ และ ๘๖ ค่าภาษีการค้าที่ชำระนั้นเป็นการชำระล่วงหน้าไปก่อนตามรายการที่ยื่นไว้เท่านั้นซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบรายการที่ยื่นเห็นว่าถูกต้องและพอใจ ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้ค่าภาษีโดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนเงินค่าภาษีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์จะถือว่าค่าภาษีสำหรับรายการดังกล่าวนั้นได้ถึงกำหนดชำระด้วยแล้วหาได้ไม่ เพราะเมื่อยังไม่ได้ยื่นแสดงรายการก็ยังไม่มีค่าภาษีที่ต้องชำระ
ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องครบถ้วนเช่นในคดีนี้ต้องตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานทำการไต่สวนและประเมินค่าภาษีใหม่ได้ สำหรับค่าภาษีรายพิพาท กองตรวจภาษีอากรเพิ่งตรวจพบในภายหลังว่าจำเลยผู้ล้มละลายได้ยื่นรายการเสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย จึงมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าภาษีที่จะต้องชำระเพิ่มเติมไปให้จำเลยทราบ เมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ เพื่อให้นำเงินภาษีไปชำระภายในกำหนด ๓๐ วัน เช่นนี้จะเห็นได้ว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ค่าภาษี ที่จะต้องเสียเพิ่มเติมหรือนัยหนึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าภาษีตามรายการที่ยื่นไว้แล้ว และเป็นหนี้ที่เจ้าพนักงานเพิ่งประเมินขึ้นใหม่ในภายหลัง ซึ่งจะถึงกำหนดชำระภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานได้แจ้งไปดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นค่าภาษีที่จำเลยผู้ล้มละลายจะต้องชำระตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๐๐ และมกราคา ๒๕๐๒ ดังฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ไม่ คดีทำนองนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๗/๒๕๐๔ และ ๑๒๐๒/๒๕๐๖
ส่วนข้อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีอากรรายนี้เจ้าหน้าที่เพิ่งแจ้งให้จำเลยนำไปชำระภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันแจ้ง หนี้ค่าภาษีรายนี้ก็ถึงกำหนดชำระรายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว หาใช่เป็นหนี้ค่าภาษีอาการที่ถึงกำหนดชำระภายใน ๖ เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๖) ไม่ความข้อนี้เป็นการโต้เถียงเปลี่ยนแปลงจากที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีความเห็นไว้เดิม แต่อย่างไรก็ดี ในคดีล้มละลายนั้น กฎหมายยอมให้เจ้าหนี้ซึ่งหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้ามาขอรับชำระหนี้ได้ด้วย และเมื่อหนี้นั้นเป็นหนี้ที่จะได้รับในลำดับก่อนหนี้อื่น ๆ แล้ว ก็หาทำให้การที่จะได้รับชำระหนี้นั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่
อาศัยเหตุดังวินิจฉัยมา ผู้ขอรับชำระหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรรายนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐(๖) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share