แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำนำดอกเบี้ยเกินต้นอำนาจไถ่ วิธีพิจารณา,ตัดพยาน
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องขอให้จำเลยนำต้นเงิน ๒๖๐ บาทกับดอกเบี้ยที่ค้าง ๔๗๐ บาทมาไถ่ที่ดินซึ่งจำนำไว้ต่อโจทย์
จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาจำนำที่ดิน แลค้างดอกเบี้ยจริงตามฟ้อง แต่โจทย์ไม่มีอำนาจได้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ทั้งเมื่อก่อนโจทย์ฟ้องจำเลยก็ได้นำเงินต้นกับดอกเบี้ยเท่าเงินต้นไปขอไถ่ โจทย์ไม่ยอม จำเลยขอนำพยานพิศูจน์ความข้อนี้
ศาลเดิมตัดสินให้โจทย์ชนะคดีตามฟ้องโดยไม่ยอมให้จำเลยสืบพยาน อ้างว่าประกาศเรื่องจำนำขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘ ข้อ ๓ มี ความทับพระราชบัญญัติกู้เงินขายตัวแลจำนำ จ.ศ.๑๒๓๐ แล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยนำต้นเงินแลดอกเบี้ยที่ค้างเท่าต้นเงินมาไถ่ที่รายนี้ได้
โจทย์ฎีกาว่าควรได้ดอกเบี้ยเต็มจำนวนที่ค้าง ตามประกาศเรื่องจำนำขายฝากที่ดิน ร.ศ. ๑๑๘ ข้อ ๓
ฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศเรื่องจำนำขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘ ข้อ ๓ ตอน ๒ นั้นบังคับไว้ว่า “ห้ามไม่ให้ศาลตัดสินให้ที่เปนสิทธิ์แก่ผู้รับจำนำแม้ว่าผู้จำนำมีเงินมาไถ่ครบทั้งต้นทุนดอกเบี้ยแลค่าเสียหายทั้งปวงถ้วนทุกอย่างในเวลาที่ก่อนศาลหนึ่งศาลใดได้ตัดสิน” คำว่า “ครบทั้งต้นทุนดอกเบี้ย” นี้ ควรเข้าใจว่าครบตามอำนาจที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย แลกฎหมายที่บังคับถึงอำนาจได้ดอกเบี้ยก็คือ พระราชบัญญัติเรื่องกู้เงินขายตัวแลจำนำ จ.ศ.๑๒๓๐ ซึ่งบังคับไว้ให้เจ้าณี่มีอำนาจเรียกร้องเอาดอกเบี้ยได้เพียงเท่าจำนวนเงินต้นประกาศปี ๑๑๘ มิได้ยกเลิกพระราชบัญญัติ+เพราะ
๑.ไม่มีถ้อยคำกล่าวชัดเช่นนั้น
๒.ซึ่งจะยอมให้เจ้าณี่เรียกดอกเบี้ยจากลูกณี่ได้จนไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ไม่ควรถือเป็นความประสงค์ของกฎหมาย
จึงเห็นว่าโจทย์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นไม่ได้
อนึ่งตามประกาศปี ร.ศ.๑๑๘ เมื่อไม่ปรากฎว่าศาลใดตัดสินให้ที่หลุดเปนสิทธิแล้ว ผู้จำนำยังมีอำนาจไถ่ได้ เรื่องนี้จำเลยอ้างว่าได้ขอไถ่แต่โจทย์ไม่รับ จึงส่งสำนวนให้ศาลเดิมสืบพยานตามประเด็นที่จำเลยขอ แล้วตัดสินตามรูปความ