แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง จำเลยนำสืบว่าผู้ตายคงขึ้นไปนั่งบนผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือจึงไปถูกสายไฟฟ้าเข้า ดังนี้ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองดังจำเลยอ้าง
การเดินสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นสายเปลือยผ่านอาคารที่เกิดเหตุในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หากจำเลยจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสายไฟฟ้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสายไฟฟ้านั้นได้ จึงอยู่ในวิสัยของจำเลยที่จะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 53,100 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเขตอำเภอพนัสนิคมได้ขึงสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 22,000 โวลท์ ซึ่งเป็นสายเปลือยผ่านเหนือกันสาดดาดฟ้าของตึกร้านภักดีในระยะห่างกำแพงกันตกของดาดฟ้า 0.70เมตร และสูงเหนือกันสาด 1.15 เมตร ส่วนกำแพงกันตกของดาดฟ้าสูง 0.80 เมตร เด็กหญิงแพรว เหลืองอ่อน ถูกกระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าของจำเลยนี้ดูดตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2521 การขึงสายไฟฟ้าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยในการก่อสร้างทางไฟฟ้าซึ่งจำเลยกำหนดไว้ตามเอกสารหมาย จ.11 ว่า ต้องห่างจากตัวอาคารไม่น้อยกว่า 3 เมตรภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยได้ยกสายไฟฟ้าเกิดเหตุให้สูงขึ้นตามภาพถ่ายหมาย จ.4 สายไฟฟ้าแรงสูงที่เกิดเหตุขึงภายหลังการปลูกสร้างอาคารที่เกิดเหตุ
ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุที่เด็กหญิงแพรว เหลืองอ่อน ถึงแก่ความตายเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองและเกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กระแสไฟฟ้าที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหาย อันเกิดแต่กระแสไฟฟ้านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 437 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยผู้ครอบครองจะพ้นความรับผิดต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองนั้น ตามทางนำสืบของจำเลยจำเลยคงมีแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเบิกความในเชิงให้ข้อสันนิษฐานว่าเด็กหญิงแพรวคงขึ้นไปนั่งบนผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือจึงไปถูกสายไฟฟ้าเข้าเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุเกิดเพราะความผิดของผู้ตายเองดังจำเลยอ้าง ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า การตายของเด็กหญิงแพรวเกิดแต่เหตุสุดวิสัยนั้น ตามทางนำสืบของจำเลยก็มิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัยอย่างไร ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่าในการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงกำลัง 22,000 โวลท์และเป็นสายเปลือยนั้นจำเลยได้กำหนดมาตรฐานระยะห่างปลอดภัยในการก่อสร้างทางไฟฟ้าตามเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 3 โดยกำหนดระยะน้อยที่สุดในแนวระดับจากสายไฟฟ้ายังอาคารเป็นระยะ 3 เมตร แต่สายไฟฟ้าที่เกิดเหตุในคดีนี้ขึงผ่านกันสาดชั้นดาดฟ้าของอาคารที่เกิดเหตุทางกำแพงกันตกของดาดฟ้าเพียง 0.70 เมตร ตามเอกสารหมาย จ.11 ยังมีบันทึกเรื่องอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงสรุปใจความได้ว่า หากมีระยะห่างในแนวระดับระหว่างสายไฟฟ้ากับส่วนยื่นของอาคารน้อยกว่า1.50 เมตร ให้ดำเนินการแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเลื่อนตำแหน่งติดตั้งลูกถ้วยให้อยู่ห่างจากอาคาร เปลี่ยนไม้คอนเป็นแบบท้าวแขน ย้ายแนวสายหรือเปลี่ยนสายจากชนิดสายเปลือยเป็นสายหุ้มฉนวน นายปรีดี ณ สงขลา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นวิศวกรไฟฟ้าของจำเลยเองก็ยังเบิกความว่า ลักษณะของสายไฟฟ้าที่เดินผ่านตัวตึกอาคารที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายในเอกสารหมาย จ.6ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยเดินสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นสายเปลือยผ่านอาคารที่เกิดเหตุในลักษณะที่ไม่ถูกต้องอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาคารนั้นได้ทุกขณะและโดยง่าย หากจำเลยจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสายไฟฟ้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสายไฟฟ้านั้นได้ จึงอยู่ในวิสัยของจำเลยที่จะป้องกันได้ อันตรายที่เกิดขึ้นแก่เด็กหญิงแพรวจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย”
พิพากษายืน