คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยส่งไข่ผงที่เสื่อมคุณภาพแล้วให้โจทก์ร่วม โดยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าไข่ผงดังกล่าวเป็นนมผงตามที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อ เพื่อหวังจะได้เงินจากโจทก์ร่วมอันเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพียงแต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระเงินให้จำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง ไม่เป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดสภาพและคุณภาพแห่งของอันเป็นเท็จอีกหรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 18 วรรคสองกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายอาหารสัตว์สำหรับอาหารสัตว์ที่ตนผลิตด้วย และมาตรา 19 วรรคหนึ่งกำหนดว่าใบอนุญาตตามมาตรา 18 ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตด้วยโดยวรรคสองให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการคุ้มกันตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายอาหารสัตว์ประเภทไดแคลเซียมฟอสเฟตของบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ขายอาหารสัตว์ที่ตนผลิตได้ตามกฎหมายจำเลยจึงได้รับการคุ้มกันตามมาตรา 19 จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ฯ มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายไข่ผงจำนวน 160 ถุง เป็นเงิน 120,000 บาท และจำนวน 240 ถุง เป็นเงิน 180,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่นายจรูญ วัฒนกิจผู้เสียหาย โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นนมผงสำหรับเลี้ยงสัตว์ อันเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพและคุณภาพแห่งของนั้นอันเป็นเท็จกับจำเลยขายไดแคลเซียมฟอสเฟตซึ่งเป็นอาหารสัตว์ประเภทอาหารเสริมสำหรับสัตว์ชนิดอาหารเสริมแร่ธาตุจำนวน 80 ถุง เป็นเงิน 21,600 บาท และจำนวน 150 ถุง เป็นเงิน 81,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่ผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ และไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ได้รับใบอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 271 พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 6, 15, 59
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายจรูญ วัฒนกิจ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 18 เดือน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 15 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 59 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 3 เดือนรวมจำคุกทั้งสิ้น 21 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบนั้น เป็นเรื่องจำเลยส่งไข่ผงที่เสื่อมคุณภาพแล้วให้โจทก์ร่วม โดยหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าไข่ผงดังกล่าวเป็นนมผงตามที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อ เพื่อหวังจะได้เงินจากโจทก์ร่วมอันเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตแต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระเงินให้จำเลย การกระทำของจำเลยตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเข้าลักษณะฉ้อโกง จึงไม่เป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดสภาพและคุณภาพแห่งของนั้นอันเป็นเท็จหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์ประเภทไดแคลเซียมฟอสเฟตของบริษัทอุตสาหกรรมกระดูกสัตว์ จำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ป.ล.3(ศาลแขวงพระนครใต้) บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ให้ผลิตอาหารสัตว์ตามใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ เอกสารหมาย ป.ล.4 (ศาลแขวงพระนครใต้)เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 18 วรรคสองบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายอาหารสัตว์สำหรับอาหารสัตว์ที่ตนผลิตด้วย จึงถือได้ว่าบริษัทอุตสาหกรรมกระดูกสัตว์ จำกัดได้รับใบอนุญาตให้ขายอาหารสัตว์ที่ตนผลิตได้ตามกฎหมาย และมาตรา 19 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ใบอนุญาตตามมาตรา 18 ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตด้วยและวรรคสองบัญญัติว่า ให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการคุ้มกันตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตด้วย ดังนั้นการที่จำเลยขายอาหารสัตว์ประเภทไดแคลเซียมฟอสเฟตของบริษัทอุตสาหกรรมกระดูกสัตว์ จำกัด จำเลยจึงได้รับการคุ้มกันตามมาตรา 19ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 15 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share