แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมาตรา 85แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537บัญญัติให้ นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดที่ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว กรณีของโจทก์เป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาซึ่งศาลแรงงานได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 2 แล้วซึ่งหากกรณีฟังได้ดังที่จำเลยต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ ศาลแรงงานจึงควรพิจารณาในประเด็นข้อ 2 ก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แล้วจึงวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นต่อไป การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่วินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ก่อน ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลแรงงาน ให้ศาลแรงงานพิจารณาและพิพากษา ใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครูพ.ศ. 2488 มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลสอดส่องเกี่ยวกับเรื่องการจัดการศึกษาและพิทักษ์สิทธิครู จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เมื่อวันที่ 1 กันยายน2533 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับเป็นผลให้นายจ้างและลูกจ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคมกำหนดต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับรัฐบาลฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของอัตราค่าจ้างของผู้ประกันตน ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีตาย เป็นผลให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับตามข้อบังคับของโจทก์ที่ได้ใช้บังคับมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ใช้บังคับแล้ว ปรากฏว่าสิทธิประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ได้รับสวัสดิการในกรณีคลอดบุตรและกรณีตายที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอัตราสูงกว่าสิทธิประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม โจทก์จึงมีสิทธิขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีคลอดบุตรอัตราร้อยละ 0.12 และในกรณีตายอัตราร้อยละ 0.06 ได้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2537 โดยโจทก์ได้ยื่นขอลดส่วนอัตราเงินสมทบที่จะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งสองกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 31มีนาคม 2539 แต่จำเลยมีคำสั่งไม่ยอมลดส่วนอัตราเงินสมทบทั้งสองกรณี โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539 แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2539 และโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ขอให้บังคับจำเลยลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 0.12และในกรณีตายในอัตราร้อยละ 0.06 จากอัตราเงินสมทบร้อยละ 1.5ที่โจทก์และเจ้าหน้าที่ (ลูกจ้าง) ของโจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยให้โจทก์และเจ้าหน้าที่ (ลูกจ้าง)ของโจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนนี้
จำเลยให้การว่า มาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติว่า นายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดที่ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวกรณีของโจทก์ได้ยื่นคำขอลดส่วนอัตราเงินสมทบโดยยืนยันจะจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ0.44 ตามหนังสือที่ อค 10/1830 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538พร้อมแบบคำขอลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้วมีคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0704/ว.0207 ลงวันที่ 21 เมษายน 2538 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบและมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.26 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 เป็นต้นไปซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือที่ อค 10/2130 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 ตอบรับทราบผลการพิจารณาของสำนักงานประกันสังคมตามหนังสือฉบับดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมก็ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งนั้นแต่โจทก์มีหนังสือที่ อค 10/602 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคมเป็นผลให้คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเป็นที่สุด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่1134/2539 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2539 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล และให้การต่อสู้คดีอีกหลายประการ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยขอสละประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังนี้ ในเรื่องค่าทำศพ โจทก์มีระเบียบเรื่องเงินช่วยเหลือในการทำศพ พ.ศ. 2503หมวด 3 ข้อ 11(ก) และ (ข) ส่วนระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาเรื่อง ช่วยเหลือในการจัดทำศพ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538 ข้อ 3(8)เป็นระเบียบที่ออกภายหลังพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2537 จำเลยมีกฎกระทรวง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2538 ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กรณีคลอดบุตรจำเลยให้สวัสดิการในกรณีคลอดบุตร โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรรายละ 4,000 บาท และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 67ให้เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีกในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน โจทก์มีระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการคลอดบุตร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2523 ลงวันที่ 3 กันยายน 2523 ข้อ 2 ระบุว่าเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาขอรับเงินช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือในการคลอดบุตร 500 บาท ต่อบุตร 1 คน สำหรับผู้ที่มีบุตรไม่เกิน 3 คน สำหรับเรื่องอุทธรณ์ โจทก์ได้แจ้งจากจำเลยตามหนังสือสำนักงานประกันสังคมที่ รส 0704/ว.0207 ลงวันที่21 เมษายน 2538 กับหนังสือที่ รส 0704/3116 ลงวันที่ 25เมษายน 2539 ซึ่งจำเลยยืนยันว่า โจทก์จะต้องนำส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.62 ตั้งแต่เงินสมทบของค่าจ้างเดือนเมษายน2538 เป็นต้นไป แต่โจทก์ขอนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดิมคือ อัตราร้อยละ 0.44 ไปก่อน ตามหนังสือที่ อค 10/2130 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2530 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2538)โดยโจทก์ยืนยันอีกครั้งหนึ่งตามหนังสือที่ อค 70(3/28) ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคม ตามหนังสือที่ อค 10/602 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539 จำเลยได้ออกประกาศของคณะกรรมการประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย พ.ศ. 2534ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยมีเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 เกี่ยวกับกรณีคลอดบุตรกรณีทุพพลภาพกรณีตาย ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการคลอดบุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 ตามเอกสารหมาย จ.3 และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการคลอดบุตร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.4โจทก์มีข้อบังคับว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาเกี่ยวกับการคลอดบุตรและค่าทำศพ พ.ศ. 2538 ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.5 ระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จเงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จนปัจจุบัน ตามเอกสารหมาย จ.6 ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2534 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องให้สามีสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาที่คลอดบุตรได้ตามเอกสารหมาย จ.7 ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการจัดการศพ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 27 กันยายน 2538 ตามเอกสารหมาย จ.8 พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม2538 เป็นต้นไป หลังจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่13 กุมภาพันธ์ 2538 ถึงโจทก์ เรื่อง การลดอัตราส่วนอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โจทก์ได้รับแล้วตามเอกสารหมาย ล.1ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 ถึงจำเลยอ้างว่าสิทธิประโยชน์ในเรื่องการคลอดบุตร และการตายของโจทก์นั้นได้จัดสวัสดิการให้สูงกว่าที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด จึงประสงค์ขอลดส่วนอัตราเงินสมทบประเภทคลอดบุตรและการตายตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน2538 ถึงโจทก์แจ้งผลการพิจารณาเรื่องการขอลดส่วนอัตราเงินสมทบว่าโจทก์ไม่ได้รับการลดอัตราเงินสมทบในกรณีคลอดบุตรและตายต่อไป ตามเอกสารหมาย ล.3 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24พฤษภาคม 2538 ถึงจำเลย แจ้งว่าโจทก์ขอส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่จำเลยตามอัตราเดิมคือ ร้อยละ 0.44 ไปก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลในเรื่ององค์การค้าของคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2539 เรื่องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มเติม โดยอ้างว่าโจทก์ให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงานของโจทก์เรื่อง การคลอดบุตรและการตายสูงกว่าของจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.62 ตามที่จำเลยแจ้ง ตามเอกสารหมาย ล.5 จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2539ถึงโจทก์ยืนยันว่าให้โจทก์ส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.62ของค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย ล.6 โจทก์ได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยลงวันที่14 สิงหาคม 2539 ตามเอกสารหมาย ล.7 จำเลยได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ 1134/2539 ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.8 จำเลยมีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรแก่ผู้ประกันตนในอัตรา 4,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้งสำหรับการคลอดบุตรของผู้ประกันตนหรือภรรยาของผู้ประกันตนหรือหญิงซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยตามเอกสารหมาย ล.9 และจำเลยมีประกาศคณะกรรมการประกันสังคมเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย พ.ศ. 2534 (ฉบับที่ 3)ลงวันที่ 18 มีนาคม 2534 ซึ่งกำหนดว่าเมื่อสำนักงานประกันสังคมได้สั่งลดส่วนอัตราเงินสมทบไปแล้ว ปรากฏในภายหลังว่าสวัสดิการที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างอันเป็นเหตุให้ลดส่วนอัตราเงินสมทบนั้น นายจ้างมิได้จ่ายให้ลูกจ้างทุกคนให้ถือว่าสวัสดิการนั้นมีไม่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมสั่งยกเลิกคำสั่งยกเลิกคำสั่งลดส่วนอัตราเงินสมทบได้ ตามเอกสารหมาย ล.10
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ จึงมีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและยกประเด็นในข้อที่ 4 ขึ้นวินิจฉัยก่อน โดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการคลอดบุตร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2523 ประกาศ ณ วันที่ 3 กันยายน 2523 ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของโจทก์ กรณีคลอดบุตรโดยจ่ายเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรครั้งละ 500 บาท ต่อบุตร 1 คน สำหรับผู้ที่มีบุตรไม่เกิน 3 คน ซึ่งเป็นสิทธิต่ำกว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากจำเลย ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2538โจทก์ได้ออกระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2538ข้อ 24 กำหนดว่าการลาคลอดบุตร ให้มีสิทธิลาคลอดบุตรก่อนและหลังวันคลอดบุตรรวมกันโดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน โดยให้นำใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดง การนับวันลาคลอดบุตรไม่นับวันลารวมกับวันลาอื่น ๆ และให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการลาป่วยโดยอนุโลม แต่ให้นับวันหยุดทุกชนิดในระหว่างวันลาคลอดบุตรเป็นเวลาคลอดบุตรการแท้งบุตรถือเป็นการลาคลอดบุตร ตามเอกสารหมาย จ.4 และวันที่ 29 มีนาคม 2539โจทก์ได้ออกข้อบังคับองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาเกี่ยวกับค่าคลอดบุตรและค่าทำศพ พ.ศ. 2538 ข้อ 4 กำหนดว่า ในกรณีเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาคลอดบุตร องค์การค้าของคุรุสภาจะช่วยเหลือค่าคลอดบุตรเป็นเงิน 4,000 บาท ต่อบุตร 1 คนสำหรับผู้มีบุตรไม่เกิน 4 คน ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เท่ากับของจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2534 ข้อ 24/1 กำหนดให้สามีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลาคลอดบุตรลาไปเพื่อดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ครั้งละ3 วันทำงานต่อเนื่องกัน ตามเอกสารหมาย จ.8 ส่วนค่าทำศพนั้นโจทก์มีระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503ข้อ 11 กำหนดว่าในกรณีเจ้าหน้าที่คุรุสภาถึงแก่กรรม ให้จ่ายเงินช่วยเหลือในการทำศพ (ก) จ่ายให้ในเดือนที่ถึงแก่กรรมเต็มเดือน (ข) จ่ายเงินช่วยเหลือให้เท่ากับค่าจ้างเต็มเดือน2 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2538โจทก์ได้ออกระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการจัดการศพ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 ข้อ 18 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือในการทำศพ ศพละ 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาวันที่29 มีนาคม 2539 โจทก์ได้ออกข้อบังคับขององค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาเกี่ยวกับการคลอดบุตรและค่าทำศพ พ.ศ. 2538 ข้อ 5 ว่า ให้จ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพเป็นเงิน 20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5ถือได้ว่า ระเบียบให้สวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของโจทก์เพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.9 ซึ่งเป็นข้อบังคับกำหนดให้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับ เรื่อง ค่าคลอดบุตรและค่าทำศพสูงกว่าสิทธิประโยชน์ของจำเลยนั้นได้ประกาศใช้หลังจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 แล้ว จึงมิใช่สวัสดิการที่นายจ้างได้จัดให้มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอลดหรืองดส่วนอัตราเงินสมทบตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า นายจ้างผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดที่ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว กรณีของโจทก์ได้ยื่นคำขอลดส่วนอัตราเงินสมทบโดยยืนยันจะจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.44 ตามหนังสือที่ อค 10/1830 ลงวันที่ 31มีนาคม 2538 และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้วมีคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0704/ว.0207 ลงวันที่ 21 เมษายน 2538แจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบและมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.62 ตั้งแต่เดือนเมษายน2538 เป็นต้นไป โจทก์ได้มีหนังสือที่ อค 10/2130 ลงวันที่24 พฤษภาคม 2538 ตอบรับทราบผลการพิจารณาของสำนักงานประกันสังคมแล้ว ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมก็ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งนั้น แต่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ตามหนังสือที่ อค 10/602 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา ซึ่งข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยศาลแรงงานกลางได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 2 ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 แล้ว ดังนั้น หากกรณีเป็นดังที่จำเลยต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายบัญญัติไว้ อาศัยเหตุนี้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลแรงงานกลางควรพิจารณาในประเด็นข้อ 2 ก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แล้วจึงวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นต่อไป การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 โดยไม่วินิจฉัยประเด็นข้อ 2 ก่อน ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี