คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 883 และตามกรมธรรม์ประกันภัยมุ่งประสงค์จะคุ้มครองวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่ง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไปจนได้ส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้รับตราส่ง คือการคุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภทที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้นั่นเอง เมื่อปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัยอันเป็นจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย โดยไม่มีการสูญหายหรือเสียหาย และผู้ซื้อก็ได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผู้ขนส่งจะได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไปโดยผู้ซื้อมิได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารผู้รับตราส่งก่อนตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก็ตามก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย อันจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากันเมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย และโจทก์ยอมชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 โจทก์ว่าจ้างบริษัทลุฟฮันซ่าเยอรมันแอร์ลายน์ ขนสินค้าเพชรและทองรูปพรรณของโจทก์ราคา 7,849,000 บาท ส่งให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศอุรุกวัย มีข้อตกลงว่าเมื่อสินค้าถึงปลายทางผู้ขนส่งต้องส่งหลักฐานแก่ธนาคารแบงโกบาเนสโต้ เอส.เอ. และเมื่อผู้ซื้อชำระราคาแก่ธนาคารดังกล่าวแล้ว ธนาคารจะมอบหลักฐานให้ไปรับสินค้าจากผู้ขนส่ง ในการขนส่งผู้ขนส่งรับประกันภัยสินค้าครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าส่วนอีกครึ่งหนึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับประกันภัยไว้ ต่อมาผู้ขนส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคาร ผู้ขนส่งยอมรับผิดและใช้เงิน 3,924,500 บาท แก่โจทก์แล้วตามสัญญาประกันภัย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระส่วนที่เหลือ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 3,924,500 บาท นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 196,225 บาท รวมเป็นเงิน 4,120,725 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,120,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง มิใช่กรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ค่าเสียหายไม่เกิน 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงเมื่อสินค้าถึงเมืองท่าหรือคลังสินค้าปลายทางค่าเสียหายไม่เกิน 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ตกลงขายสินค้าเพชรและทองรูปพรรณรวมราคา 7,849,000 บาท แก่บริษัทพาลิเวล เอส.เอ.จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศอุรุกวัย โดยใบตราส่งระบุชื่อธนาคารแบงโกบาเนสโต้ เอส. เอ.เป็นผู้รับสินค้าเพื่อส่งต่อแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องในฐานะผู้ซื้อคือ บริษัทพาลิเวล เอส. เอ.จำกัด เมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารแบงโกบาเนสโต้ เอส. เอ. แล้ว ธนาคารจะมอบใบตราส่งพร้อมหลักฐานอื่นให้ไปรับสินค้าจากบริษัทลุฟฮันซ่าเยอรมันแอร์ลายน์ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าดังกล่าว ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 และ จ.10 ปรากฏว่า เมื่อสินค้าดังกล่าวขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัยแล้วผู้ขนส่งได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไปโดยผู้ซื้อไม่ได้ชำระราคาสินค้าผู้ขนส่งยอมรับผิดชดใช้ราคาสินค้าอัตราร้อยละห้าสิบของราคาสินค้าเป็นเงิน 3,924,500 บาท แก่โจทก์แล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ราคาสินค้าที่โจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัยในการขนส่งสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 2 ว่าด้วยวิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน มาตรา 883 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้นย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบขณะนั้นแก่ผู้รับตราส่ง ฯลฯ” และตามคำแปลกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 แผ่นที่ 4 ข้อ 1 ก็ระบุว่า “กรมธรรม์ฉบับนี้คุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภท ที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ ฯลฯ” จึงเป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง วินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่ง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไปจนได้ส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้รับตราส่ง คือการคุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภทที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้นั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า สินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัย อันเป็นจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย โดยไม่มีการสูญหายหรือเสียหายและผู้ซื้อก็ได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผู้ขนส่งจะได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไป โดยผู้ซื้อมิได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคาร ผู้รับตราส่งก่อนตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย อันจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากันเมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย และโจทก์ยอมชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848 แล้ว จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

พิพากษายืน

Share