แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “ป่า” หมายความว่าที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ส่วนแบบแจ้งการครอบครองที่ดินตามที่พยานจำเลยอ้างนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความระบุว่าเป็นที่ดินที่แจ้งการครอบครองบริเวณใด และไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดิน 70 ถึง 80 ไร่ แต่อย่างใด คงระบุแต่เพียงว่า ช. เป็นผู้แจ้งการครอบครองโดยไม่ได้ระบุว่าครอบครองต่อจากผู้ใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทไม่มีเอกสารสิทธิจึงเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่พิพาทจึงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 4 (1) การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทมานานแล้วนั้น ก็ถือเป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วย ป.ที่ดิน เมื่อที่พิพาทมีสภาพเป็นป่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจึงเป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี ให้จำเลย คนงาน ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท เมื่อพิจารณาเนื้อที่ที่กระทำความผิดเพียง 1 ไร่ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลย คนงานผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “ป่า” หมายความว่าที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ส่วนแบบแจ้งการครอบครองที่ดินตามเอกสารหมาย ล.6 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความระบุว่าเป็นที่ดินที่แจ้งการครอบครองบริเวณใด และไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดิน 70 ถึง 80 ไร่ แต่อย่างใด เอกสารหมาย ล.6 ระบุแต่เพียงว่านายชบ เป็นผู้แจ้งการครอบครองโดยไม่ได้ระบุว่าครอบครองต่อจากผู้ใดทั้งได้ความว่า ที่ดินที่นายชบครอบครองได้มีการนำไปออกโฉนดที่ดินและขายให้บุคคลอื่นแล้ว ดังนั้น หากที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามเอกสารหมาย ล.6 แล้วก็น่าจะต้องมีการนำไปออกโฉนดที่ดินพร้อมกับที่ดินแปลงอื่น ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าที่ดินแปลงอื่นได้มีการออกโฉนดที่ดินไปหมดแล้ว และบิดามารดาจำเลยได้แบ่งขายที่ดินให้บุคคลอื่นส่วนที่พิพาทจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ มารดาจำเลยทำเอกสารหมาย ล.3 ให้ไว้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้รับในภายหลังจากที่มารดาเสียชีวิตแล้ว ซึ่งเอกสารหมาย ล.3 ก็ไม่ได้ระบุว่าที่ดินที่ยกให้มีหลักฐานทางทะเบียนแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่พิพาทไม่มีเอกสารสิทธิจึงเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่พิพาทจึงเป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และได้ความจากคำเบิกความของนายบุญหนุนว่า บริเวณเขาโพธิ์แบะเป็นที่ป่า โดยชาวบ้านบริเวณดังกล่าวทราบข้อเท็จจริงนี้ ดังนั้น จำเลยซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นย่อมต้องทราบ ยิ่งนายบุญหนุนเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่เกิดเหตุ ถือเป็นเจ้าพนักงานและเป็นคนกลางและจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานโจทก์ที่มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ทุกคนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่พิพาทมานานแล้วนั้น ก็ถือเป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่พิพาทมีสภาพเป็นป่า การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจึงเป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน