คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3338/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินค่าปรับ และขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดตามฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย และให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย จำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยสำหรับจำเลยร่วม แม้ตอนท้ายของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะมีข้อความว่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น กรณีหาใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยยังคงให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใดไม่ ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นหลักไว้ในเบื้องต้นว่า ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี เมื่อคดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยร่วมทั้งสามศาล การที่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยร่วม ก็นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเงินฤชาธรรมเนียมจากจำเลยร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,840,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 465,418.33 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดด้วย
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นว่าไม่รับฟ้องแย้งสำหรับธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้หมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 รับผิดร่วมกับโจทก์
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 544,640 บาท และเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 59,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2531 จนถึงวันฟ้องแย้ง (วันที่ 6 ตุลาคม 2531) แต่ไม่เกิน 65 วัน และไม่เกินจำนวนเงิน 6,218.33 บาท แก่จำเลย ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 802,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 6 ตุลาคม 2531) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าปรับ 590,000 บาท และค่าติดตั้ง 400,000 บาท รวมเป็นเงิน 990,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินค่าปรับของค่าอุปกรณ์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 6 ตุลาคม 2531) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับจำเลยร่วม โดยให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 934,634.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 2 สิงหาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 จำเลยยื่นคำแถลงว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท จำเลยร่วมนำค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยประสงค์จะขอรับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่น่าจะมีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจากจำเลยร่วม ให้ยกคำแถลง ครั้นวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 จำเลยยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอีกครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำแถลง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยรับค่าฤชาธรรมเนียมตามคำแถลงของจำเลยฉบับลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ได้ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท จากจำเลยร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีนี้นอกจากจำเลยจะฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินค่าปรับเนื่องจากเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว จำเลยยังขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดตามฟ้องแย้งในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ด้วย และแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้แต่ละฝ่ายรับผิดรวมกันมา แต่เมื่อพิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์สองจำนวนรวม 694,640 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์ชำระเงิน 59,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กับที่พิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงิน 802,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย ให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นั้น สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้โจทก์ได้รับชำระเงินเพิ่มขึ้นจึงเป็นการพิพากษาแก้เฉพาะส่วนของโจทก์กับจำเลยเท่านั้น เพราะระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยยังต้องคืนเงินแก่โจทก์ จึงไม่มีหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยอันจำเลยร่วมจะต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันอีก และพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยสำหรับจำเลยร่วม ดังนั้น คดีระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมจึงถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย แม้ตอนท้ายของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะมีข้อความว่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น กรณีหาใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยสำหรับจำเลยร่วมและยังคงให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นตั้นดังคำแถลงของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นหลักไว้ในเบื้องต้นว่าความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี คดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยร่วมทั้งสามศาล การที่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยร่วมก็นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยได้รับค่าฤชาธรรมเนียมตามคำแถลงของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำแถลงขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share