แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณแก้มซ้าย 1 ครั้ง พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องลงโทษปรับ 1,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยข้อเท็จจริงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 3รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบและแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษากลับโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฎีกา และศาลฎีกายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3และยกฎีกาของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มือตบบริเวณแก้มซ้ายนางสุวดี รุ่งช่วงผู้เสียหาย 1 ครั้ง ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณแก้มซ้าย 1 ครั้ง พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 1,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จำเลยอุทธรณ์ว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยให้ ย่อมเป็นการมิชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 และยกฎีกาของโจทก์