คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ผ. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดกถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ ผ.ตายแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยให้การ ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันและต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้นที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754มาใช้ไม่ได้ โจทก์ซึ่งมีสิทธิรับมรดกแทนที่ของทายาทของ ผ. เจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นและมิได้ยกปัญหานี้เป็นข้ออุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้ฟังพยานโจทก์จำเลยก่อนนั้นไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพุ่ม นางอิ่ม เป็นสามีภริยากันมีบุตร 5 คน คือนางโด้ นายแจ้ง นางแผ้ว (เจ้ามรดก) นายจันทร์ นางตุ๊ นางแผ้วตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่มีบุตร มีที่นาโฉนดเลขที่ 6503, 6504เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นทายาทผู้สืบสันดานของนายจันทร์มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายจันทร์หนึ่งในสี่ส่วน จำเลยเป็นบุตรนางโด้และเป็นผู้จัดการมรดกของนางแผ้วตามคำสั่งศาลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 283/2520 จำเลยไม่จัดการแบ่งมรดกให้โจทก์และทายาทอื่นตามหน้าที่ จึงขอให้บังคับจัดการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6503,6504 ออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์ทั้งหมดได้รับหนึ่งส่วนมีเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์ 1 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ขอให้จำเลยชดใช้เงินตามส่วนให้โจทก์ 85,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแผ้วจริง จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตลอดมา โจทก์และทายาทอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพร้อม คู่ความแถลงรับกันว่า นางแผ้วตายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม2519 จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 6503, 6504ของนางแผ้วต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2520 บัญชีเครือญาติท้ายฟ้องถูกต้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินทั้งสองแปลงต่อศาลแสดงว่าครอบครองที่ดินสองแปลงนั้นแทนทายาทอื่น ๆ ด้วย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจะอ้างอายุความ 1 ปีมาตัดฟ้องทายาทไม่ได้ แต่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 13มิใช่ทายาทเป็นเพียงคู่สมรสของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 14 ไม่มีสิทธิขอแบ่งมรดก พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6503 และ 6504ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 14 จำนวนหนึ่งในสี่ส่วนหากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์ทั้งเก้าคนหนึ่งในสี่ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยใช้เงิน 85,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินมรดกทั้งสองแปลงมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย ทายาทอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ฟ้องขอแบ่งเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี หากคดีฟังได้ดังที่จำเลยให้การก็ชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์เสียพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยแถลงรับว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนางแผ้วตามคำสั่งศาล จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนางแผ้วซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก จำเลยจึงได้ร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่ดินดังกล่าวตั้งแต่นางแผ้วตายแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยให้การก็ตาม ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745, 1748 ประกอบด้วยมาตรา 1368 จำเลยจะยกอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 14 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของทายาทของนางแผ้วเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้ ข้อที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน จำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและไม่ได้ยกปัญหานี้เป็นข้ออุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามรูปคดีโดยให้ฟังพยานโจทก์จำเลยก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share