คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สภาพปกติของการนัดหยุดงานได้แก่การที่ลูกจ้างหยุดการกระทำใด ๆอันลูกจ้างมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่ตามปกติผลที่เกิดขึ้นจากการหยุดผลิตหรือหยุดการขนส่งย่อมถือเป็นผลธรรมดาหรือธรรมชาติของการหยุดงาน แต่การที่ผู้คัดค้านกับพวกซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เพียงแต่หยุดงาน แต่กลับปิดกั้นประตูทางเข้าออกบริษัทผู้ร้อง จนเป็นเหตุให้บริษัทผู้ร้องไม่อาจปฏิบัติตามสัญญากับคู่สัญญาได้ และต้องรับผิดในความเสียหายต่อคู่สัญญา ย่อมถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นมิใช่ผลธรรมดาของการนัดหยุดงาน แต่เป็นเรื่องที่กรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(2)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า นายศักดา ภาคาทรัพย์กับพวกผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ปิดกั้นทางเข้าออกบริษัทผู้ร้องในระหว่างการนัดหยุดงาน ทำให้บริษัทผู้ร้องไม่สามารถนำรถขนสินค้าผ่านเข้าออกประตูบริษัทผู้ร้องซึ่งเป็นทางสาธารณะได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทผู้ร้องอย่างร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทผู้ร้องนายประมุท บูรณะศิริ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผู้ร้องได้ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เลิกปิดกั้น แต่กรรมการลูกจ้างดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่บริษัทผู้ร้อง นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อบริษัทผู้ร้องซึ่งตามระเบียบข้อบังคับบริษัทผู้ร้องบทที่ 5 ข้อ 2.6.2, 2.6.3 และ2.6.4 มีโทษถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จึงขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขเพิ่มเติมว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ความผิดอันเป็นเหตุให้บริษัทผู้ร้องได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2524สหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานฝาจีบได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทผู้ร้องขอให้ปรับปรุงสภาพการจ้าง แต่ตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทไกล่เกลี่ยแต่ยังตกลงกันไม่ได้ ลูกจ้างของบริษัทผู้ร้องจึงตกลงกันนัดหยุดงานและทำหนังสือแจ้งให้บริษัทผู้ร้องทราบเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2524 บริษัทผู้ร้องแจ้งให้ลูกจ้างชุมนุมหยุดงานภายนอกบริษัท วันที่ 15 สิงหาคม 2524 ลูกจ้างทั้งหมดได้มาร่วมหยุดงานโดยชุมนุมกันที่หน้าบริษัทผู้ร้องเพื่อรอฟังผลการเจรจา โดยที่เนื้อที่หน้าบริษัทผู้ร้องมีน้อยด้านหน้าติดกับถนนใหญ่ ด้านข้าง2 ข้างเป็นคูน้ำ ลูกจ้างที่ร่วมชุมนุมมีจำนวนมาก เมื่อมีรถเข้าออกบริษัทผู้ร้องการสลายตัวเพื่อเปิดทางให้รถผ่านจึงขลุกขลักและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าของบริษัทผู้ร้องมีขนาดใหญ่ หากให้ออกมาทันทีโดยลูกจ้างสลายตัวไม่หมด ก็อาจเกิดอันตรายแก่ลูกจ้างได้ แต่เมื่อลูกจ้างสลายตัวแล้วรถยนต์ก็เข้าออกได้ ผู้คัดค้านไม่ได้ปิดทางเข้าออกของบริษัทผู้ร้องในระหว่างชุมนุมดังกล่าว ทั้งมิได้ยุยงให้มีการปิดกั้นทาง การชุมนุมของผู้คัดค้านมิได้เจตนาให้บริษัทผู้ร้องได้รับความเสียหาย ก่อนนัดหยุดงานบริษัทผู้ร้องได้ขนสินค้าที่ผลิตแล้วออกไปจากบริษัทผู้ร้องจนหมดสิ้น ขณะหยุดงานได้มีการเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าเป็นบางหน่วย บริษัทผู้ร้องจึงไม่ได้รับความเสียหายเพราะการชุมนุมของลูกจ้างและผู้คัดค้านได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปโดยสงบมิได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้หนึ่งผู้ใด และปัจจุบันบริษัทผู้ร้องกับลูกจ้างทั้งหมดตกลงกันได้แล้ว และได้กลับเข้าปฏิบัติงานตามปกติเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทุกคนได้

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ผู้คัดค้านมิได้จงใจที่จะทำให้บริษัทผู้ร้องได้รับความเสียหาย มุ่งหมายเพียงเพื่อจะช่วยให้ข้อพิพาทแรงงานยุติลงโดยเร็วและข้อเรียกร้องนั้นสัมฤทธิ์ผลตามสมควร ควรยกคำร้อง

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า สภาพปกติของการหยุดงานได้แก่การที่ลูกจ้างหยุดกระทำการใด ๆ อันลูกจ้างมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่ตามปกติเช่น หยุดผลิตสินค้า หรือหยุดขนส่งสินค้าเป็นต้น ผลที่เกิดขึ้นจากการหยุดผลิตหรือหยุดขนส่งดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นผลธรรมดาหรือธรรมชาติของการหยุดงาน การที่ผู้คัดค้านกับพวกไม่เพียงแต่หยุดงานแต่กลับปิดกั้นประตูเข้าออก ผู้ร้องได้ออกคำเตือนเป็นหนังสือ ผู้คัดค้านทุกคนทราบคำเตือนแล้วยังไม่ยอมเลิกการกระทำแต่กลับปิดกั้นทางเข้าออกต่อไป เป็นเหตุให้บริษัทผู้ร้องหรือคู่สัญญาของบริษัทผู้ร้องไม่อาจขนสินค้าที่ผลิตไว้แล้วตามสัญญาได้ทำให้คู่สัญญาของบริษัทผู้ร้องบอกเลิกสัญญาซื้อขายและบริษัทผู้ร้องต้องรับผิดในความเสียหายของคู่สัญญา ย่อมถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้คัดค้านทั้งหมดไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของการหยุดงานอย่างแน่นอนดังนี้ จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านทั้งหมดจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(2) เพียงพอที่จะถือเป็นเหตุเลิกจ้าง

พิพากษายืน

Share