แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ…”
ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยยกคำร้องของโจทก์แล้ว คดีย่อมฟังเป็นยุติว่า เงินสดของกลางจำนวน 220,200 บาท ที่โจทก์ขอให้ริบนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และจะต้องคืนให้แก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ว่าเงินสดของกลางจำนวนดังกล่าวเป็นของจำเลย และทั้งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยด้วยแล้ว จึงชอบที่จะคืนเงินสดของกลางให้แก่จำเลย จึงทำให้คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเงินสดของกลางนั้นอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วฟังว่า จำเลยมิใช่เจ้าของเงินสดของกลางที่แท้จริง จึงไม่อาจที่จะสั่งคืนให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๕ เม็ด น้ำหนักรวม ๐.๔๖ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและเงินสด ๒๒๐,๒๐๐ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลยเป็นของกลาง และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ริบเงินสด ๒๒๐,๒๐๐ บาท ดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๙ , ๓๑
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลาง ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นรวม ๒ วันติดต่อกันแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า เงินสด ๒๒๐,๒๐๐ บาท ของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมนางสนุ่น สนเผือก ขอให้ยกคำร้องและคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบเงินสด ๒๒๐,๒๐๐ บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะขอคืนเงินสดของกลางจำนวน ๒๒๐,๒๐๐ บาท หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (๑) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ…” ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยยกคำร้องของโจทก์แล้ว คดีย่อมฟังเป็นยุติว่าเงินสดของกลางจำนวน ๒๒๐,๒๐๐ บาท ที่โจทก์ขอให้ริบนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และจะต้องคืนให้แก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ว่าเงินสดของกลางจำนวนดังกล่าวเป็นของจำเลย และทั้งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยด้วยแล้ว จึงชอบที่จะคืนเงินสดของกลางให้แก่จำเลย เนื่องจากคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเงินสดของกลางนั้นอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วฟังว่าจำเลยมิใช่เจ้าของเงินสดของกลางที่แท้จริง จึงไม่อาจที่จะสั่งคืนให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินสดของกลางจำนวน ๒๒๐,๒๐๐ บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.
นายสุภัทร์ สุทธิมนัส ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายเดชา หงส์ทอง ผู้ช่วยฯ/ตรวจ