คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3323/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงใส่ย. โดยเจตนาฆ่าเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ฯลฯ แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล แต่โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 มาในคำขอท้ายฟ้อง กรณีมิ ใช่โจทก์อ้างฐานความผิด หรือบทมาตราผิด แต่โจทก์ไม่ได้ อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการ กระทำเช่นนั้นเป็น ความผิดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)มาในฟ้อง ฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วย มาตรา 80จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ลงโทษจำเลยสำหรับความผิด ฐานนี้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่, 289(7)ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษตามมาตรา 289(7)ประกอบด้วย มาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตลอดชีวิตและผิดตามพระราชบัญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก เป็นคนละกรรมโดยให้ลงดทษตามมาตรา 72 วรรคท้าย กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี และมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดืนอ รวมทุกกระทงจำคุกตลอดชีวิต ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับฟ้องของโจทก์ตามข้อหาฐานพยายามฆ่านายเย็น อ้อยขาว นั้นศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์บรรยายมาในฟ้องข้อ 1ก. ด้วยว่า “ฯลฯจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงใส่นายเย็น อ้อยขาวโดยเจตนาฆ่าเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ฯลฯ แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุ ฯลฯ” ก็ตามแต่โจทก์ก็ไม่ได้ระบุอ้างบทบัญญัติมาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นบทลงโทษมาให้คำขอท้ายฟ้องแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีเช่นนี้มิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า หากแต่เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตราในกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) มาในฟ้อง ฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่านายเย็น อ้อยขาว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ลงโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้ไม่ได้

ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และความผิดฐานพกพาอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ 1 ก. และ ข. นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยถือไฟฉายและไม้พลอง 1 อัน ส่วนพวกของจำเลยถือปืนลูกซองยาวของกลาง เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ครอบครองหรือพกพาอาวุธปืนแต่อย่างใดโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้สมคบกันกับพวกของจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองอย่างไร เพียงแต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้ร่วม กับพวกคนหนึ่งกระทำการชิงทรัพย์ของพวกผู้เสียหาย โดยพวกของจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงในการกระทำผิดด้วยเท่านั้น จะสันนิษฐานว่าจำเลยได้สมคบกับพวกครอบครองและพกพาอาวุธปืนของกลางด้วยไม่ได้ เพราะเป็นการสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ชอบด้วยการพิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองข้อหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และลงโทษจำเลยฐานพกพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาข้อหาทั้งสองนี้ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยจำเลยฎีกาฝ่ายอุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาว่า จำเลยไมไ่ด้กระทำผิด และความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับข้อหาฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยอยู่ด้วย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามข้อหาทั้งสองดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนจยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาทั้งสองดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสี่ ให้จำคุก 20 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share