คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นทั้งบทความผิดและบทลงโทษในมาตราเดียวกัน ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษส่วนหนึ่งของมาตรา 7 เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ไม่อ้างมาตรา 7 ซึ่งมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 7 และเป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 100 เม็ด น้ำหนัก 9.68 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 4,500 บาท แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลเพราะถูกเจ้าพนักงานจับกุมตัวได้เสียก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยคำขอท้ายฟ้องอ้างบทกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 โดยมิได้อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายคนละฉบับกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทั้งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” ซึ่งเป็นการบัญญัติว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเท่าใด จึงเป็นทั้งบทความผิดและบทลงโทษในมาตราเดียวกัน ส่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ และความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 นั้น เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษส่วนหนึ่งของมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ไม่อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่”
พิพากษายืน

Share