แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินมาก่อนที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อจำเลยได้ทราบประกาศให้ที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ จึงถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้วตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อป่าไม้อำเภอแจ้งว่าจำเลยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติให้ออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกโดย ยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 14,31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1,016 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2526 กำหนดให้ป่าดงขุมคำในท้องที่ตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานีเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ให้ประชาชนและจำเลยได้ทราบแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2528 วันเดือนใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันถึงวันที่ 22 กันยายน 2531 เวลากลางวันทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์โดยการปลูกมะม่วง อ้อย และพันธุ์ไม้ต่าง ๆอยู่อาศัยในที่ดินและก่อสร้างบ้านจำนวน 1 หลัง ไว้เป็นที่อยู่อาศัยและก่อสร้างฉางข้าวจำนวน 1 หลังภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว รวมเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ อันเป็นการทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31ที่แก้ไขแล้ว และให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ลงโทษจำคุก 6 เดือนปรับ 5,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 4 เดือน15 วัน ปรับ 3,750 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปีให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า จำเลยได้ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าดงขุมคำตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ อยู่ก่อน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ทางราชการได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1,016 (พ.ศ. 2526) กำหนดให้ที่ดินบริเวณที่จำเลยยึดถือครอบครองเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยได้ทราบประกาศนั้นแล้ว แต่ไม่ยอมออกนอกเขตป่าดังกล่าว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยได้ยึดถือครอบครองที่ดินมาก่อนที่กฎกระทรวงกำหนดให้ป่าดงขุมคำ เป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม เมื่อจำเลยได้ทราบประกาศให้ที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ จึงถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้วตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อป่าไม้อำเภอแจ้งว่าจำเลยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติให้ออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปโดยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง”
พิพากษายืน