คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3310/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้ เงิน จำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ ถูกต้องสมควร แต่สัญญากู้เงินมีใจความชัดเจนว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สัญญาจำนองที่ดินและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองก็มีใจความว่าผู้จำนองตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเองจากจำเลยทั้งสองอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญา กู้เงินจึงไม่ใช่เบี้ยปรับแม้ทางปฏิบัติโจทก์จะผ่อนผันให้โดย คิดดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี โดยเริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียง ร้อยละ 9.5 ต่อปี และเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้ กลายเป็นเบี้ยปรับแต่อย่างใด ส่วนข้อตกลงในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตรา ดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดได้นั้น หมายถึง กรณีผู้กู้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ที่ต้องชำระเป็นรายเดือน แล้วผู้ให้กู้เพิ่มอัตรา ดอกเบี้ยสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 19 ต่อปีดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่า ร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าศาลเห็นว่าสูง เกินส่วนจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า ร้อยละ 19 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจาก อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 176,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากติดค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปี ยินยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินณ วันที่ค้างชำระครบหนึ่งปีโดยยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินต้นใหม่ในอัตราเดียวกัน หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งจำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าข้อตกลงได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า ในการกู้ยืมเงินดังกล่าว จำเลยทั้งสองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 56398 ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มาจำนองไว้เป็นประกันโจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งแรกจากจำเลยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยผิดนัดโจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นรวม14 ครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 208,281.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 165,385.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 173,883.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 165,385.97 บาท นับจากวันที่ 6 กรกฎาคม 2540จนกว่าชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56398 ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินที่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่เห็นว่า เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแต่หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 มีใจความชัดเจนว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9ก็มีใจความว่าผู้จำนองตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีเช่นกัน จากข้อสัญญาดังกล่าวไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงไม่ใช่เบี้ยปรับแม้ทางปฏิบัติโจทก์จะผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ19 ต่อปี โดยเริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 9.5 ต่อปี และเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 19 ต่อปีก็ไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้ซึ่งไม่ใช่เบี้ยปรับกลายเป็นเบี้ยปรับแต่อย่างใด ส่วนข้อตกลงตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ที่มีใจความว่าหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดในข้อ 1 เมื่อใดก็ได้นั้น หมายถึงกรณีผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ที่ต้องชำระเป็นรายเดือน แล้วผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 19 ต่อปี ดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าศาลเห็นว่าดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปี สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 19 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน173,883.70 บาท แก่โจทก์อุทธรณ์โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มอีก 34,398.01 บาท เต็มตามฟ้องโจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 860 บาท ให้คืนส่วนที่เกินมา 4,347.50 บาทแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี แต่ไม่ให้เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้โจทก์เรียกเก็บได้ในต้นเงิน 165,385.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมา 4,347.50 บาท ให้แก่โจทก์

Share