คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจผลิตอาหารปลอม โดยผลิตซอสน้ำมันหอยที่ผสมปรุงแต่ง และทำขึ้นเทียมซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่ อ.ผลิตทำขึ้น และทำออกจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น ซอสน้ำมันหอยที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีจำนวนจุลินทรีย์เกินมาตรฐานที่กำหนด และใช้กรดเบนโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนด จนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภค และจำเลยได้นำอาหารที่ผลิตขึ้นนั้นแบ่งบรรจุขวด แล้วนำฉลากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำปลอมขึ้นปิดที่ขวด เพื่อ ลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และประโยชน์ว่า อาหารดังกล่าวเป็นซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่แท้จริงที่ อ.ผลิตขึ้น คำบรรยายฟ้องดังกล่าว จึงครบถ้วนตามความหมายของอาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27 (2), (5) และ (4) แล้ว และได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่สมบูรณ์.
ฟ้องโจทก์กล่าวว่าจำเลยผลิตอาหารโดยมีจำนวนจุลินทรีย์เกินกำหนดมาตรฐานและใช้กรดเบ็นโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กำหนดจนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีจำนวนจุลินทรีย์เท่าใดและใช้กรดเบ็นโซอิคจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดฐานผลิตอาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหาร เป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับและแยกจากกันได้ แม้จำเลยจะกระทำในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าซอสน้ำมันหอยตราชาวประมง โดยทำปลอมเครื่องหมายการค้าเป็นรูปคน ๓ คน รูปดอกไม้บนพื้นสีเหลืองมีอักษรจีนและอักษรโรมันลงบนแผ่นกระดาษเพื่อเป็นฉลากปิดข้างขวดซอสน้ำมันหอยตราชาวประมง ให้มีลักษณะและขนาดเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงของนายอรรณพ แสงธีระปิติกุล ผู้เสียหาย ที่ได้จดทะเบียนต่อกรมทะเบียนการค้าไว้แล้ว และจำเลยได้ผลิตอาหารปลอมโดยผลิตซอสน้ำมันหอยปลอมโดยผสมปรุงแต่งและทำซอสน้ำมันหอยขึ้นเทียมซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่ผู้เสียหายผลิตทำขึ้นและทำออกจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น และซอสน้ำมันหอยที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๖๙ (พ.ศ. ๒๕๒๕) โดยอาหารที่ผลิตขึ้นมีจำนวนจุลินทรีย์เกินมาตรฐานที่กำหนดและใช้กรดเบ็นโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนดจนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ แล้วจำเลยได้นำอาหารที่ผลิตขึ้นแบ่งบรรจุขวดและทำฉลากเครื่องหมายการค้าชาวประมงที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าว ปิดที่ขวดเพื่อลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณและประโยชน์ ให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าอาหารดังกล่าวเป็นซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่แท้จริงที่ผู้เสียหายผลิตขึ้น แล้วจำเลยได้นำซอสน้ำมันหอยที่ผลิตปลอมขึ้นนั้นออกจำหน่ายแก่ประชาชน เหตุเกิดที่แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ และแขวงพระโขนง เขตพระโขนง เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๖, ๒๕(๒),๒๗, ๕๗ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๖, ๒๕(๒) ๒๗, ๕๙ ลงโทษข้อหาปลอมเครื่องหมายการค้าจำคุก ๑ ปี ข้อหาปลอมอาหารจำคุก ๓ ปี รวมจำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจผลิตอาหารปลอมโดยผลิตซอสน้ำมันหอยโดยผสมปรุงแต่งและทำขึ้นเทียมซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่นายอรรณพ แสงธีระปิติกุล ผลิตทำขึ้นและทำออกจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น คำบรรยายฟ้องดังกล่าวครบถ้วนตรงตามความหมายของ ‘อาหารปลอม’ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๗(๒) ความว่า ‘วัตถุหรืออาหารที่ผลิตขึ้นเทียมอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดและจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น’ โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าซอสน้ำมันหอยที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๖๙ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง โดยอาหารที่ผลิตขึ้นมีจำนวนจุลินทรีย์เกินมาตรฐานที่กำหนดและใช้กรดเบ็นโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนด จนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวครบถ้วนตรงตามความหมายของ ‘อาหารปลอม’ ตามมาตรา ๒๗(๕) ความว่าอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖(๒) หรือ (๓) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่าส่วประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตราย’ โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยได้นำอาหารที่ผลิตขึ้นนั้นแบ่งบรรจุขวดและทำฉลากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำปลอมขึ้นปิดที่ขวดเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณประโยชน์ ให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่า อาหารดังกล่าวเป็นซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่แท้จริงที่นายอรรณพ แสงธีระปิติกุล ผลิตขึ้นคำบรรยายฟ้องดังกล่าวก็ครบถ้วนตามความหมายของ ‘อาหารปลอม’ ตามมาตรา ๒๗(๔) ความว่า ‘อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต’ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาอ้างว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗(๑) นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗(๑) แก่ตามคำฟ้องโจทก์การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๒๗(๒), (๔), (๕) และจำเลยรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษได้ ส่วนที่ว่าฟ้องโจทก์กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยผลิตอาหารโดยมีจำนวนจุลินทรีย์เกินกำหนดมาตรฐานและใช้กรดเบ็นโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กำหนดจนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีจำนวนจุลินทรีย์เท่าใด และใช้กรดเบ็นโซอิคจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ และที่จำเลยฎีกาอ้างว่าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๒๗(๔) จะต้องเป็นการลวงหรือพยายามลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่นของตัวสินค้านั้น หาใช่ลวงว่าสินค้าของคนหนึ่งเป็นสินค้าของอีกคนหนึ่งไม่นั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยทำฉลากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำปลอมขึ้นปิดที่ขวดบรรจุอาหารที่จำเลยผลิตเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณและประโยชน์ซึ่งครบถ้วนตามที่มาตรา ๒๗(๔) บัญญัติไว้แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก็ฟังได้ดังที่โจทก์กล่าวฟ้องไว้
ในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ๒ กระทงหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนความผิดฐานผลิตอาหารปลอมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ และความผิดดังกล่าวแยกจากกันได้ เมื่อจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งแล้ว และเมื่อจำเลยผลิตอาหารปลอมก็เป็นความผิดสำเร็จอีกกระทงหนึ่ง แม้จำเลยจะกระทำในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นความผิดกรรมเดียว
พิพากษายืน

Share