แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ไปในทางการที่จ้าง โดยขับรถด้วยความประมาททำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย การบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อายุความฟ้องร้องจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารคันที่จำเลยขับ และค่าซ่อมกำแพงอู่รถของโจทก์ซึ่งเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มตั้งแต่นั้น มิใช่นับเริ่มแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารและกำแพงอู่รถของโจทก์ที่เสียหายให้บริษัทผู้รับจ้างซ่อม ค่าซ่อมเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและค่าซ่อมรถของบุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกสองรายและโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกสองรายไม่พร้อมกัน อายุความฟ้องร้องซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 ย่อมเริ่มต้นนับไม่พร้อมกัน โดยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้เงินแก่บุคคลภายนอกไปอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ภายในกำหนดอายุความ จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วเริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันนั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ระหว่างจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์นั้นจำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารตามทางการที่จ้างด้วยความประมาททำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และของบุคคลภายนอกเสียหายรวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและกำแพงอู่จอดรถของโจทก์และเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงเสียหาย รวม 5 ครั้ง เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น28,875 บาท ต่อมาโจทก์หักค่าจ้างของจำเลยใช้หนี้ได้จำนวน211 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ 28,664 บาทขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาท เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวม 5 ครั้งตามฟ้องจริง แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะคดีของโจทก์ขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่จำเลยก่อความเสียหายแก่โจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นั้น โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกโดยครั้งที่ 1 โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารจำนวน 800 บาทแก่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 ครั้งที่ 3 จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารจำนวน 600 บาท แก่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์จำกัด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.3 ครั้งที่ 4 จ่ายค่าซ่อมกำแพงอู่รถและค่าซ่อมรถยนต์โดยสารจำนวน 6,500 บาทและ 600 บาท แก่บริษัทเทพนิรมิตขนส่ง จำกัด และบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ตามลำดับเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2524ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเมื่อโจทก์จ่ายเงินแก่บุคคลภายนอกไป อายุความฟ้องร้องในกรณีนี้มีกำหนด10 ปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงิน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2533 ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ไปในทางการที่จ้าง โดยขับรถด้วยความประมาททำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายการบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานอายุความฟ้องร้องจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ซึ่งค่าซ่อมรถยนต์โดยสารและกำแพงอู่รถของโจทก์ตามอุทธรณ์ข้อนี้ที่โจทก์ได้ใช้ค่ารับจ้างซ่อมให้แก่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด และบริษัทเทพนิรมิตขนส่ง จำกัดถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2521 วันที่ 12 กันยายน 2522 และวันที่29 พฤศจิกายน 2522 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มตั้งแต่นั้น มิใช่นับเริ่มแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารและกำแพงอู่รถของโจทก์ที่เสียหายให้บริษัทผู้รับจ้างซ่อม แต่เนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2521 ตามเอกสารหมาย จ.1 วันที่ 22 มกราคม 2524 ตามเอกสารหมาย จ.3และวันที่ 25 สิงหาคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.4 ตามลำดับทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ แล้วเริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533ดังนั้น หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ขาดอายุความแล้ว จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารจำนวน 600 บาทตามเอกสารหมาย จ.3 กับค่าซ่อมรถยนต์โดยสารและกำแพงอู่รถจำนวน 7,100 บาทตามเอกสารหมาย จ.4 แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ที่จำเลยก่อความเสียหายแก่โจทก์ในครั้งที่ 5 นั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อการละเมิดอันจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำโดยโจทก์จ่ายค่าเสาไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวงจำนวน 2,875 บาทเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2524 ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.5 แผ่นที่ 2 และจ่ายค่าซ่อมรถของบุคคลภายนอก จำนวน 14,000 บาทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3และจ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์แก่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์จำกัด เป็นเงิน 1,500 บาท เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2523 ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้เป็นมูลคดีเดียวกันโจทก์จ่ายเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2524 อายุความฟ้องร้องในกรณีนี้มีกำหนด 10 ปีเมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 สิงหาคม 2533 ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สำหรับค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์เป็นเงิน 1,500 บาท นั้น ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์ข้อก่อนว่า อายุความเริ่มนับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ 13 มีนาคม 2523แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คือวันที่ 19 มีนาคม 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนค่าเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและค่าซ่อมรถของบุคคลภายนอก จำเลยกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกสองรายและโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกสองรายไม่พร้อมกันอายุความฟ้องร้องซึ่งมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ย่อมเริ่มต้นนับไม่พร้อมกัน โดยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้เงินแก่บุคคลภายนอกไปอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้สำหรับค่าซ่อมรถของบุคคลภายนอกจำนวน 14,000 บาท นั้น โจทก์ได้จ่ายเงินไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความแล้ว ส่วนค่าเสาไฟฟ้าที่โจทก์จ่ายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงไปจำนวน 2,875 บาท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2524 นั้น ยังไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จากจำเลยได้ รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 10,575 บาท แต่โจทก์ได้หักค่าจ้างจำเลยชดใช้ไปแล้วเป็นเงิน 211 บาท โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ให้อีกเป็นเงิน 10,364 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 10,364 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.