แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญา ศาลได้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง สั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้อง และให้หมายเรียกจำเลยมาให้การแก้คดีและนัดสืบพยานโจทก์ กับให้โจทก์นำส่งหมายภายใน 7 วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 3 วัน โดยโจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งนั้นแล้ว ต่อมาได้มีการนำส่งหมายเรียกแก่จำเลยโดยขอให้ศาลอื่นจัดการส่งให้เพราะจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น ศาลที่จัดการส่งหมายให้แจ้งมาว่าส่งหมายให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากจำเลยไปอยู่ที่อื่น ไม่มีผู้ใดรับหมายแทน ศาลเจ้าของคดีสั่งลงในหนังสือนำส่งหมายคืนนั้นว่าให้โจทก์ทราบ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้แถลงภายใน3 วัน แต่ไม่ปรากฏว่าคู่ความได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งนี้ ต่อมาเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเลยกำหนด 3 วันแล้วเจ้าพนักงานศาลรายงานว่า โจทก์มิได้มาติดต่อหรือยื่นคำแถลงต่อศาล ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะโจทก์ยังไม่ทราบคำสั่งของศาลที่ให้แถลงภายใน 3 วันนั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแล้ว ในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์ยื่นคำร้องแสดงเหตุผลว่า โจทก์มิได้จงใจที่จะทิ้งฟ้อง ขอให้ศาลเรียกจำเลยมาแก้คดีและดำเนินคดีต่อไป ศาลได้ตรวจสำนวนและบัญชีนัดแล้ว จึงได้ทราบว่าได้ส่งไปโดยผิดหลง ดังนี้ ศาลนั้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นได้ และแม้จะมิได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ และมิได้สอบถามจำเลย ก็ไม่เป็นการผิดกระบวนพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล มีคำสั่งประทับฟ้อง
เมื่อส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยทั้งสองไม่ได้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ให้โจทก์ทราบ จะดำเนินการอย่างไร ให้แถลงมาภายใน 3 วัน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าเลยกำหนด 3 วันแล้ว โจทก์มิได้มาติดต่อหรือยื่นคำแถลงต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ในวันนั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องแสดงเหตุผลว่ามิได้จงใจที่จะทิ้งฟ้อง ขอให้ศาลเรียกจำเลยมาแก้คดีและดำเนินคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วเชื่อว่า โจทก์มิได้จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเสีย นัดสอบคำให้การจำเลย และสืบพยานโจทก์ใหม่
ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง ให้หมายเรียกจำเลยมาให้การแก้คดี และนัดสืบพยานโจทก์ ให้โจทก์นำส่งหมายภายใน7 วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงใน 3 วัน โจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งนี้ ฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อทราบคำสั่ง ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกไปขอให้ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจจัดส่งให้ก็ส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ส่วนจำเลยที่ 2 เดินทางไปธุระที่ฮ่องกง ไม่มีผู้ใดรับหมายแทน ศาลแขวงพระนครใต้จึงส่งหมายคืนศาลชั้นต้นสั่งลงในหนังสือนำส่งหมายคืนนั้นว่า ให้โจทก์ทราบ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้แถลงภายใน 3 วัน ไม่ปรากฏว่าคู่ความได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งนี้ ต่อมาจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าเลยกำหนด 3 วันแล้วโจทก์มิได้มาติดต่อหรือยื่นคำแถลงต่อศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ในวันนั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องแสดงเหตุผลว่า มิได้จงใจที่จะทิ้งฟ้อง ขอให้ศาลเรียกจำเลยมาแก้คดีและดำเนินคดีต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในตอนท้ายของคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น ศาลชั้นต้นจะได้สั่งไว้ด้วยว่า ถ้าส่งหมายเรียกไม่ได้ให้โจทก์แถลงใน 3 วัน ก็เป็นการสั่งเผื่อไว้ล่วงหน้า และเมื่อคดีนี้เจ้าพนักงานศาลอื่นเป็นผู้ส่งหมายให้ เจ้าพนักงานศาลส่งหมายทราบที่อยู่ของจำเลยอยู่แล้ว โจทก์ไม่ต้องนำเจ้าพนักงานศาลไปในการส่งหมายกำหนดเวลา 3 วันนั้น จะเริ่มนับแต่เมื่อใดนั้นโจทก์ย่อมไม่อาจทราบชัด ครั้นเมื่อศาลแขวงพระนครใต้ส่งหมายคืนมา ศาลชั้นต้นก็บันทึกคำสั่งลงในหนังสือนำส่งหมายคืนโดยโจทก์มิได้รับทราบดังกล่าวแล้วข้างต้น และต่อมาศาลชั้นต้นก็ยังจดแจ้งเหตุไว้ในคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีว่า เจ้าหน้าที่ศาลก็ไม่ได้ลงวันนัดไว้อีกด้วย จะถือว่ากรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หาได้ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ทราบคำสั่งของศาลที่ให้แถลงภายใน 3 วันนั้น ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นทราบถึงข้อผิดหลงนี้และได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเสียนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ และมิได้สอบถามจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นนี้ แม้เมื่อศาลพิจารณาเห็นสมควรเองก็ยังมีอำนาจสั่งเพิกถอนเสียได้ คดีนี้ยังส่งหมายเรียกให้จำเลยไม่ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องชี้แจงเหตุผลต่อศาล และศาลชั้นต้นได้ตรวจสอบสำนวนและบัญชีนัดแล้ว เห็นว่าศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไปด้วยความหลงผิด จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย ก็จะถือว่าเป็นการผิดกระบวนพิจารณาหาได้ไม่
พิพากษายืน