แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตำรวจจับจำเลยที่ 2 ข้อหาฆ่า และจับจำเลยที่ 1 ในข้อหาจ้างวานใช้จำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุนั้นเอง การสอบสวนทำในวันเดียวกับวันจับกุม พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพโดยสมัครใจแม้จะเป็นพยานบอกเล่าแต่เป็นคำรับที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง ย่อมมีน้ำหนักแก่การรับฟังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้างวาน จำเลยที่ 2 ให้ฆ่านายสมนึก เภาวิเศษ โดยตกลงให้เงิน 10,000 บาท เป็นค่าตอบแทน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้ฆ่านายสมนึกเภาวิเศษ ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำและที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนลูกซองสั้นใช้ยิงได้ ไม่มีหมายเลขทะเบียนจำนวน 1 กระบอก ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอก ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย และบังอาจพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาตทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาให้ยิงนายสมนึก เภาวิเศษ ถึงแก่ความตายดังรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุเกิดที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 พ.ศ. 2514 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 84, 86, 91 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84 วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) วางโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2519 ข้อ 6 จำคุก 2 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2518 ข้อ 3, 7 จำคุก 1 ปี อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่จำเลยที่ 2 รับโทษถึงประหารชีวิตแล้ว ไม่อาจรวมโทษเข้าอีกได้ คำให้การชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต ของกลางให้ริบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่คงถือได้ว่า ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตามความในมาตรา 245 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา ขณะที่นายสมนึก เภาวิเศษผู้ตายไปนั่งดื่มกาแฟร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ร้านของนายอั้นซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับสามแยกธนาคารกรุงไทย ในตลาดเมืองระนอง ทันใดนั้นเองจำเลยที่ 2 มาที่หน้าร้าน เข้าไปในร้านแล้วใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงนายสมนึก เภาวิเศษ ถูกบริเวณกกหูด้านซ้าย 1 นัดถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ 2 ได้หลบหนีไปทางโรงเรียนอนุบาล และถูกเจ้าพนักงานจับกุมตัวได้พร้อมของกลางบางอย่างที่ซุกซ่อนในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง และในวันเดียวกันนั้นเองเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดีในข้อหาฐานจ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 ฆ่านายสมนึก เภาวิเศษผู้ตาย
โจทก์นำสืบว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับสารภาพและซัดทอดไปถึงตัวจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างให้ไปฆ่าผู้ตาย ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1รับสารภาพ สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ใช้จ้างวานจำเลยที่ 2 ไปฆ่าผู้ตาย เพราะโกรธแค้นที่ผู้ตายแจ้งให้ตำรวจจับรถยนต์จำเลยที่ 1 ที่เข้าไปวิ่งทับเส้นทางสัมปทานเดินรถยนต์โดยสารของบริษัทที่ผู้ตายเป็นผู้จัดการ
จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธความผิด ที่รับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญทำร้ายบังคับให้รับสารภาพ
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 ไปฆ่าผู้ตายดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มีนายสกลหรือกล แพวิเศษ เพียงลำพังปากเดียวที่อ้างว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยไปว่าจ้างพยานให้ไปฆ่าผู้ตาย แต่มีเหตุจำเป็นพยานไม่อาจไปทำการให้ได้ นายสกลหรือกล แพวิเศษ พยานโจทก์ปากนี้มีส่วนร่วมกับการกระทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาร่วมด้วยคนหนึ่ง แต่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยาน จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ถือเอาคำเบิกความของนายสกลหรือกล แพวิเศษ เพียงลำพังมาเป็นหลักเพื่อการวินิจฉัยในการรับฟังและเชื่อไปตามนั้นเสียทีเดียวศาลอุทธรณ์ ได้พิเคราะห์คำเบิกความพยานของโจทก์ปากอื่น ๆ ด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ เชื่อว่าพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยที่ 1 ต่างก็ไม่มีสาเหตุกับจำเลยมาก่อน การจับกุมและสอบสวนได้มีขึ้นในวันเดียวกัน ร้อยตำรวจเอกชม หนูแป้นน้อย พนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 รับสารภาพโดยสมัครใจ มีน้ำหนักและเหตุผล ไม่มีเหตุชวนระแวงสงสัยเป็นอย่างอื่น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าถูกขู่บังคับไม่มีน้ำหนักรับฟัง เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ แม้จะเป็นพยานบอกเล่า แต่เป็นคำรับที่เป็นผลร้ายแก่ตนเองเช่นนี้ ย่อมมีน้ำหนักแก่การรับฟังได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน