แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 การที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 พ.ศ. 2528 ใช้บังคับมีผลเพียงทำให้จำเลยต้องเลิกกิจการเพื่อสะสางกิจการของจำเลยให้สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลต่อไปเท่านั้น หามีผลทำให้ลูกจ้างของจำเลยสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปในตัวไม่ การที่จำเลยจะเลิกจ้างลูกจ้างจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยโดยจำเลยออกคำสั่งบรรจุโจทก์เป็นรายเดือน แต่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีจึงไม่ถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อโจทก์ทำงานติดต่อกันมาเกิน 120 วัน ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ จำเลยถูกยุบเลิกอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสามสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างรายวันชั่วคราว แต่ได้ทำงานติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยเลิกกิจการโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยสามสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยได้จ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวัน มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นปี ๆ ไป โดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาจ้างตามปีงบประมาณเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การเหมืองแร่ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๘ จึงถือว่าลูกจ้างชั่วคราวรายวันได้ทำงานในปีงบประมาณ ๒๕๒๙ ไม่ถึง ๑๒๐ วัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ตุลาคม ๒๕๒๘ เป็นการแจ้งให้พนักงานและลูกจ้างหยุดปฏิบัติงานตามผลของกฎหมาย เนื่องจากจำเลยได้ถูกยุบเลิกโดยพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.๒๕๒๐ พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ (ทุกคน) ก็เพราะจำเลยถูกยุบเลิกโดยผลของกฎหมายซึ่งจำเลยไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ จึงไม่มีระยะเวลาที่จะบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าได้ จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในการที่เลิกจ้างโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๐ การที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.๒๕๒๐ พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้บังคับ ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยต้องเลิกกิจการเพื่อสะสางกิจการของจำเลยให้สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลต่อไปเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้พึงถือว่าจำเลยยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีหามีผลทำให้ลูกจ้างของจำเลยสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปในตัวไม่การที่จำเลยจะเลิกจ้างลูกจ้างจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเช่นเดียวกัน
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์อีกว่า การที่จำเลยออกคำสั่งบรรจุโจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนโดยจะเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ และโจทก์ก็ทราบความข้อนี้ดีถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนเป็นเดือนเป็นเดือนไปโจทก์จึงเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นการแน่นอนการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ (ความจริงเลิกจ้างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘) จึงเป็นการเลิกจ้างภายในกำหนดระยะเวลาของเดือนดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยโดยจำเลยออกคำสั่งบรรจุโจทก์เป็นรายเดือนก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลาคนละหลายปีจึงไม่ถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ส่วนที่จำเลยมีคำสั่งบรรจุโจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนนั้นเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยเท่านั้น เมื่อโจทก์ทำงานติดต่อกันมาเกิน ๑๒๐ วัน ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามข้อ ๗๕ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ เมื่อกรณีเป็นการเลิกจ้างเพราะจำเลยถูกยุบเลิกอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ ๔๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น
พิพากษายืน แต่ให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายสายใจ หารชุมเศษ โจทก์ที่ ๖๖ รวมเป็นเงิน ๑๕,๖๐๙.๓๐ บาท