คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง” โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาด ที่ กค 0705.04 (ภค)/10302 ลงวันที่ 4 กันยายน 2557 หนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร ที่ กค 0705.04(ภค)/10303 ลงวันที่ 4 กันยายน 2557 และเพิกถอนหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.22) ลงวันที่ไม่ปรากฏ กับขอให้สั่งว่าเงินจำนวน 354.87 บาท เป็นของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาด ที่ กค 0705.04 (ภค)/10302 ลงวันที่ 4 กันยายน 2557 หนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร ที่ กค 0705.04 (ภค)/10303 ลงวันที่ 4 กันยายน 2557 และหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.22) ลงวันที่ไม่ปรากฏของจำเลย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ จำนวน 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า โจทก์กับนางจตุพรจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 โดยไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสระหว่างกัน ต่อมาโจทก์กับนางจตุพรร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 14075 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 โจทก์กับนางจตุพรขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยมีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 546,000 บาท โจทก์กับนางจตุพรตกลงแบ่งเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2556 โดยโจทก์แบ่งเงินได้พึงประเมินเพื่อยื่นแบบแสดงรายการ จำนวน 414,960 บาท ส่วนนางจตุพรแบ่งเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นของตนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 131,040 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเป็นจำนวนเกินไปกว่าที่ควรต้องเสียภาษี 10,227.13 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งคืนภาษีเงินได้ดังกล่าวแก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือแจ้งยกเลิกการคืนภาษีอากรแก่โจทก์ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งคืนภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า หนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร หนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาด และหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า
“ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 56
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระ สามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น
เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว”
จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของโจทก์หรือนางจตุพรแต่ละคนจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้ของโจทก์และนางจตุพรคนละกึ่งหนึ่ง โจทก์กับนางจตุพรขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 กฎหมายสันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ผลของกฎหมาย ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์กับนางจตุพรไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับนางจตุพรมีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์นี้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์กับนางจตุพรจะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสอง ตอนท้าย ไม่ได้ ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษีพิพาทแสดงรายการว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นสินสมรสจำนวน 414,960 บาท ส่วนนางจตุพรมีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรสดังกล่าวจำนวน 131,040 บาท เป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยสั่งคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์โดยผิดพลาด จำเลยย่อมมีสิทธิออกหนังสือยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาดนั้น รวมทั้งออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.22) ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share