คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางได้สั่งจำหน่ายคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอีกต่อไป โจทก์ย่อมยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลางในวันเดียวกันหลังจากศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีแล้วได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) ส่วนที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลแรงงานกลางในวันต่อมานั้นเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่จำหน่ายคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ การยื่นอุทธรณ์และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาอันจะเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนอย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา จึงทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามที่จะรับไว้พิจารณา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142,247 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งจึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2535จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า ค่าเสียหาย และค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์หยุดงานไปเองโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าและมิได้ส่งมอบงานที่โจทก์รับผิดชอบอยู่ให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ได้ค้างเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย และชดใช้เงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยกระทำความเสียหายให้แก่จำเลย โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าจะต้องขายพื้นสำเร็จรูปให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 ตารางเมตร โดยตรวจสอบกันทุกสามเดือนในอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาท ตามที่จำเลยอ้างขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนไม่เคลือบคลุม พฤติการณ์ที่นายสาโรจน์ จงจิตต์กรรมการผู้จัดการจำเลยได้หยิบยกเรื่องการขายสินค้าไม่ครบจำนวนมาพูดกับโจทก์ไม่ยอมจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามกำหนดทวงวิทยุติดตามตัวคืน อีกทั้งไม่ยอมรับการติดต่อทาง โทรศัพท์ถือว่า นายสาโรจน์มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยแก่โจทก์ สำหรับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์จะได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าเป็นจำนวนเท่าใดจึงไม่อาจกำหนดให้ได้ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าเสียหายจากโจทก์นั้นคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์และไม่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโจทก์จึงไม่ต้องชำระเงินให้แก่จำเลยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเดือนประจำเดือนสิงหาคม 2535สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 6162/2535 ของศาลแรงงานกลางนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า ค่าเสียหาย และค่าชดเชย วันที่ 3 กันยายน 2535จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2535 โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมดออกเสียจากสารบบความตามคดีหมายเลขแดงที่ 6162/2535 ของศาลแรงงานกลาง ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เข้ามาใหม่ในข้อหาเดียวกับฟ้องเดิมวันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าการที่ศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่าแม้อุทธรณ์ของจำเลยจะเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีที่ควรจะรับไว้วินิจฉัยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้สั่งจำหน่ายคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอีกต่อไป โจทก์ย่อมยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันเดียวกันหลังจากศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีแล้วได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แต่อย่างใดส่วนที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลแรงงานกลางในวันต่อมานั้นเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่จำหน่ายคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์แต่อย่างใด การยื่นอุทธรณ์และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาอันจะเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนดังที่จำเลยอุทธรณ์อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา จึงทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามที่จะรับไว้พิจารณา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142, 247 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งจึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งและอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share