คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ไปแล้วนั้น ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีในมูลหนี้ละเมิด แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัย จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก จะนำอายุความ1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคแรก มาบังคับไม่ได้ หากจะนำมาตรา 448 วรรคแรกมาใช้บังคับจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยให้รับผิดด้วย และผู้เอาประกันภัยได้ยกอายุความเรื่องละเมิดขึ้นต่อสู้หากฟังได้ว่าฟ้องโจทก์สำหรับผู้เอาประกันภัยขาดอายุความเรื่องละเมิดผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 เวลา 21.50 นาฬิกานายพะเนียง ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ท-3471 กรุงเทพมหานครที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนไว้ไป โดยความประมาทโดยนายพะเนียงได้เบรกหยุดกะทันหันแต่รถไม่หยุด กลับแล่นแฉลบเข้าไปในช่องทางเดินรถด้านขวา เฉี่ยวชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ค-3122 กรุงเทพมหานครที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมแล้ว เป็นเงิน 25,950 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิเรียกร้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ค-3122 กรุงเทพมหานคร ที่ไม่ชะลอความเร็วรถทั้งที่อาจชะลอความเร็วได้ รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ค-3122กรุงเทพมหานคร เสียหายเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 9,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,649 บาท(ที่ถูกเป็น 26,649 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 25,950 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาว่าอายุความคดีนี้ต้องนำอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 มาใช้บังคับจะนำเอาอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ท-3471 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย การที่โจทก์ฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ไปแล้วนั้น ไม่ใช่ฟ้องคดีในมูลหนี้ละเมิด แต่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัย จึงมีอายุความ2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา882 วรรคแรก จะนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคแรกมาบังคับไม่ได้หากจะนำมาตรา 448 วรรคแรกมาใช้บังคับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ฟ้องสหกรณ์รวมมิตรแท็กซี่ จำกัดผู้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ท-3471 กรุงเทพมหานครให้รับผิดด้วย และผู้เอาประกันภัยได้ยกอายุความเรื่องละเมิดเป็นข้อต่อสู้ หากกรณีฟังได้ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุขาดอายุความเรื่องละเมิด ผู้รับประกันภัยก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกินจำนวน 699 บาท ตามคำขอของโจทก์

Share