แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนัก ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีในความผิดฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายโดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิด แต่ปรากฏว่าในคำร้องของผู้เสียหายที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 278, 283 ทวิ, 284, 309, 310, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยาน นางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 1 และนาง ต. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสอง เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง, 278, 283 ทวิ, 284, 309, 310, 318 วรรคสาม (ที่ถูก 276 วรรคหนึ่ง, 278, 283 ทวิ วรรคหนึ่ง, 284 วรรคหนึ่ง, 309 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่ง, 318 วรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา ฐานพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร และความผิดต่อเสรีภาพ (ที่ถูก กับฐานกระทำอนาจารบุคคลอายุกว่าสิบห้าปี ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ฐานข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจ และฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดา เพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสอง 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 4 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานข่มขืนกระทำชำเรา และฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดา โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 13 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพานางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 15 ปีเศษ นั่งรถกระบะของจำเลยออกไปจากร้านเดวิท หลังจากนั้นขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 กลับมาที่ร้านดังกล่าว สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และสำหรับความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นบทหนัก ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง โดยให้จำคุก 1 ปี ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีในความฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวข้างต้นมา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เห็นได้ว่าพยานโจทก์ทุกปากต่างเบิกความถึงเหตุการณ์ในส่วนที่ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง สอดรับเชื่อมโยงกันทุกขั้นตอนประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวตามลำดับ สนับสนุนให้เชื่อได้อย่างมั่นคงว่าพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเป็นไปดังที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความ หาใช่เป็นดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ไม่ ข้อที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นหญิงบริการลูกค้าโดยค้าประเวณีอยู่ที่ร้านอาหารเดวิท ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปกับจำเลยด้วยความสมัครใจนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวลาที่จำเลยถามค้านพยานโจทก์ ปรากฏว่าพยานโจทก์ทุกปากล้วนเบิกความปฏิเสธว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เคยมีพฤติการณ์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ฉะนั้นแม้จำเลยจะมีพยานบุคคลหลายปาก โดยพยานบางปากอ้างว่าเคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ที่ร้านเดวิทและขายบริการทางเพศให้แก่ลูกค้าก็ดี หรือพยานบางปากอ้างว่าเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ในวันเกิดเหตุทราบว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นหญิงขายบริการและคืนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ออกไปกับจำเลยด้วยความสมัครใจก็ดี แต่เมื่อจำเลยไม่ถามค้านนาง ว. พยานโจทก์ไว้ก่อนว่าพยานเหล่านี้ใช่เป็นพนักงานของร้านเดวิทหรือไม่ การที่จำเลยนำพยานเหล่านี้เข้าสืบในภายหลัง ย่อมทำให้มีข้อระแวงว่าพยานดังกล่าวถูกจัดเตรียมมาเพื่อเบิกความช่วยเหลือจำเลย ทำให้ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ส่วนพยานจำเลยปากนาย ภ. ซึ่งอ้างว่ามีสวนติดอยู่กับฟาร์มของจำเลยและได้ทักทายจำเลยขณะมาเปิดไฟที่ฟาร์มในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา นั้น ก็หาใช่ผู้ที่ยืนยันได้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด พยานเพียงแต่เบิกความว่าเห็นแต่รถกระบะของจำเลยจอดเปิดไฟหน้าอยู่โดยไม่ได้ดับเครื่องยนต์ พยานไม่ได้ยืนยันว่าขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 นั่งอยู่ในรถของจำเลยด้วย กรณีจึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ตามคำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยขับรถไปพบกับผู้เสียหายที่ 1 ที่ร้านเดวิท จากนั้นจึงบังคับพามาที่ฟาร์มของจำเลยในภายหลัง
ส่วนที่จำเลยฎีกาโต้แย้งผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ที่พบบาดแผลฉีกขาดบริเวณเยื่อพรหมจรรย์ที่ตำแหน่ง 3 และ 7 นาฬิกา กับมีการตกขาวในช่องคลอดสีขาวขุ่นเป็นทำนองว่าเป็นการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 หลังจากเกิดเหตุนานถึง 6 วัน ความเห็นของแพทย์ที่เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 ผ่านการร่วมประเวณีอาจคลาดเคลื่อน เนื่องจากลักษณะบาดแผลดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ได้เพียงประการเดียว สมควรที่พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างอื่นที่ใกล้ชิดที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยนั้น เห็นว่า อาศัยคำเบิกความอันประกอบด้วยเหตุผลของผู้เสียหายที่ 1 ประจักษ์พยานโดยตรงนำมารับฟังประกอบกับพยานแวดล้อมในวันเกิดเหตุของโจทก์ก็เพียงพอแก่การรับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้แล้ว ส่วนผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ของแพทย์นั้น เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบอย่างหนึ่งเท่านั้น ศาลหาได้นำความเห็นของแพทย์มาเป็นข้อยืนยันว่าจำเลยล่วงประเวณีผู้เสียหายที่ 1 เพียงประการเดียวไม่ ฉะนั้นแม้การตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จะมิได้กระทำในวันเกิดเหตุทันที ก็หาทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์ต้องเสียไปไม่
ข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาต่อไปว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นรถกระบะของจำเลยไม่พบอาวุธปืนและกระเป๋าสีดำทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ไม่น่าเชื่อถือนั้น เรื่องนี้นอกจากผู้เสียหายที่ 1 จะไม่เคยเบิกความยืนยันว่าเห็นอาวุธปืนที่จำเลยพูดอ้างเพื่อใช้ข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาว จ. ยังเบิกความในทำนองเดียวกันอีกว่าเมื่อจำเลยกลับมาส่งผู้เสียหายที่ 1 ที่ร้านเดวิทแล้ว จำเลยขับรถออกไปจากร้าน หลังจากนั้นค่อยขับรถกลับเข้ามาที่ร้านอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ว่าจำเลยอาจนำกระเป๋าสีดำไปเก็บไว้ที่ฟาร์มจึงทำให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นไม่พบกระเป๋าสีดำดังกล่าว หาทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เป็นพิรุธไม่ สำหรับข้อฎีกาของจำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 มีร่างกายสมบูรณ์ ลักษณะท่าทางและการพูดคุยเป็นผู้ใหญ่ทำให้จำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี แล้วนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาโดยที่ไม่เคยมีการนำสืบพยานหลักฐานเรื่องนี้ในศาลชั้นต้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของจำเลยประการอื่นนอกจากนี้เป็นประเด็นข้อปลีกย่อยไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ ไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยว่าในวันเกิดเหตุจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 150,000 บาท แก่ผู้ร้องทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยไม่ได้ระบุว่าดอกเบี้ยให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้ จึงไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลล่างทั้งสองและศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ในคืนเกิดเหตุวันที่ 30 ตุลาคม 2558 จำเลยได้พรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา และทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิด คือวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป แต่ในคำร้องของผู้ร้องทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้น ดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้อง คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป
อนึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 150,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4