คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 328/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทายาทที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีขอแบ่งส่วนมรดกนั้นจะต้องร้องเข้ามาเสียตั้งแต่คดีอยู่ในศาลชั้นต้นจะมาร้องชั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ถอนชื่อจำเลยจากโฉนดที่ดินแล้วใส่ชื่อนายอินเป็นเจ้าของตามเดิม และให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกนายอินตามบัญชีท้ายฟ้อง โดยกล่าวว่านายอินตาย โจทก์จำเลยเป็นทายาทปกครองมรดกร่วมกันมา จำเลยไปยื่นคำร้องลงชื่อนางแฉ่งจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวแล้วเอาไปโอนขายระหว่างจำเลยด้วยกัน

จำเลยต่อสู้ คงเป็นปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ปกครองมรดกร่วมด้วย คดีขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ปกครองร่วมด้วย ให้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำเลย

จำเลยที่ 1-4 อุทธรณ์ ในระหว่างอุทธรณ์นายเฉลิมได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอเข้าเป็นคู่ความเพื่อใช้สิทธิรับมรดกด้วย

ศาลอุทธรณ์คงฟังว่าโจทก์ได้ปกครองที่พิพาทร่วมอยู่ด้วยส่วนที่นายเฉลิมยื่นคำร้องมาชั้นศาลอุทธรณ์นั้น ไม่ถูกต้องยื่นตั้งแต่ชั้นศาลชั้นต้น พิพากษายืน

จำเลยที่ 1-4 และนายเฉลิมฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อปกครองร่วมกันศาลล่างฟังมาชอบแล้ว ส่วนข้อที่นายเฉลิมร้องสอดมาชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการร้องสอดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 ต้องกระทำในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share