แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โทษตามมาตรา 304 แลตามมาตรา 314 กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี เมื่อศาลเดิมยกฟ้องคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้เว้นแต่จะมีผู้รับรอง คดีอาชญาสินไหมเมื่ออุทธรณ์โจทก์ทางอาชญาต้องห้ามตามมาตรา 3 แม้โจทก์จะตั้งทุนทรัพย์มาในฟ้องก็ดี ไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ในทางอาชญา พ.ร.บ.ฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ.2461 ม.7 คดีอาชญาที่ศาลล่างยกฟ้อง 2 ศาลโดยข้อเท็จจริงมีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา ฎีกาได้ อำนาจศาลฎีกา คดีที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าต้องห้ามให้ยกฟ้องเสียนั้น เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าไม่ต้องห้ามจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ก็ได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นความอาชญาสินไหมตั้งทุนทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาชญามาตรา ๓๐๔-๓๐๖ ข้อ ๔-๓๑๔-๓๑๙ ข้อ ๒ ม.๓๒๑ แลขอให้ทำลายการขาย การจำนองแลถอนชื่อจำเลยที่ ๑-๒ ออกใส่ชื่อโจทก์ในโฉนด
ศาลพระราชอาชญาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ตั้งทุนทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดตามมาตรา ๓๐๔-๓๑๔ โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามพ.ร.บ.อุทธรณ์ ม.๓ แลที่โจทก์อ้าง มาตรา ๓๐๖ ข้อ ๔ แล ม.๓๑๙ ข้อ ๒ โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เกิดสิทธิอุทธรณ์ แลให้ยกข้อหาเรื่องรับของโจร แลเรื่องขอให้ทำลายการขายแลถอนชื่อจำเลยที่ ๑-๒ ออกจากโฉนดเสีย
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายแลข้อเท็จจริงโดยมีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รับรองฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) โจทก์เถียงว่ามีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ๓๐๔ แล ๓๑๔ เพราะศาลพระราชอาชญารับอุทธรณ์ไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีถ้อยคำของผู้พิพากษาศาลพระราชอาชญารับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้เลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเป็นการชอบแล้ว
(๒) โจทก์เถียงว่า เรื่องนี้เป็นคดีอาชญาสินไหมมีทุนทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท โจทก์ย่อมอุทธรณ์ได้ แลศาลอุทธรณ์ควรพิพากษาถึง ม.๓๐๔ แล ๓๑๔ นั้นด้วยเพราะเกี่ยวกับทุนทรัพย์ที่โจทก์ตั้งมา ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อสำหรับมาตรา ๓๐๔ แล ๓๑๔ โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ได้แล้ว เหตุที่มีทุนทรัพย์มาด้วยหาทำให้อุทธรณ์ในทางอาชญาได้อีกไม่
(๓) โจทก์ว่าโจทก์ได้บรรยายความผิดมาตรา ๓๐๖ ข้อ ๔ แล ๓๑๙ ข้อ ๒ มาในฟ้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายข้อความมาจริง จึงย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๓๐๖ ข้อ ๔ แล ๓๑๙ ข้อ ๒ และความผิดของจำเลยในทางแพ่งด้วยต่อไปตามกระบวนความแลเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมแล้วคู่ความก็ย่อมมีสิทธิฎีกาได้อีกตามกฎหมาย