คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3261/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อการวินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลที่อยู่ในกิจการร่วมค้ากับผู้ร้องหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งในชั้นอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ จึงยังไม่ยุติ ผู้ร้องชอบที่จะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามเงื่อนไขในสัญญาได้ทั้งการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงต่อผู้ร้อง อันเกี่ยวเนื่องจากผู้คัดค้านสำคัญผิดในตัวบุคคลของคู่สัญญา ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ใด ข้อเท็จจริงเรื่องความสำคัญผิดในตัวบุคคลเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ยุติอันจะพึงถือว่าสัญญาเป็นโมฆะผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าผู้คัดค้านเรียกร้องให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้ผู้คัดค้านแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำต่อไปในทำนองว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีวิธีคุ้มครองป้องกันการกระทบสิทธิของผู้ร้องก่อนเกิดความเสียหายโดยห้ามชั่วคราวไม่ให้ผู้คัดค้านเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกันจากธนาคารไว้จนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ได้โดยไม่จำต้องเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกระทำการใดๆ อันเป็นการก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องโดยตรง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นกิจการร่วมค้ายื่นคำร้องว่าผู้ร้องทั้งห้าเข้าทำสัญญาโครงการระบบบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ กับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อตกลงว่าข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการต่อมาผู้คัดค้านอ้างว่าเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลที่อยู่ในกิจการร่วมค้ากับผู้ร้องทั้งห้า สัญญาจึงเป็นโมฆะ ให้ผู้ร้องทั้งห้ายุติดำเนินงานที่เหลือตามสัญญา ทั้งที่ผู้ร้องทั้งห้าดำเนินงานตามสัญญาและผู้คัดค้านตรวจรับงานและจ่ายค่าจ้างแล้วเป็นเงินประมาณ 20,000,000,000 บาท หรือประมาณร้อยละ 98 ของงานตามสัญญา แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมตรวจรับและจ่ายค่าจ้างตามงานที่เหลือซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้ร้องทั้งห้าจึงบอกเลิกสัญญาและเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน อ้างว่าตามสัญญานั้นผู้ร้องทั้งห้าได้วางหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาและหนังสือค้ำประกันการรับเงินประกันผลงานตามสัญญา รวม 5 ธนาคาร เป็นหนังสือค้ำประกัน 14 ฉบับ แก่ผู้คัดค้านซึ่งสิ้นผลผูกพันแล้ว ผู้คัดค้านต้องคืนหนังสือค้ำประกัน 14 ฉบับ ให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าและชำระค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันแทนผู้ร้องทั้งห้าในอัตราปีละ 26,000,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกัน 14 ฉบับ แก่ผู้ร้องทั้งห้า ระหว่างการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งธนาคารทั้งห้าซึ่งออกหนังสือค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาและหนังสือค้ำประกันผลงานตามสัญญาของผู้ร้องทั้งห้าไว้ต่อผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้ธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแก่ผู้คัดค้าน ธนาคารดังกล่าวจะชำระเงินจำนวนตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้คัดค้าน ทั้งๆ ที่ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันสิ้นผลไปแล้วเพราะข้ออ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะและมีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมาแล้ว หนี้สิ้นทั้งปวงและค่าสินไหมทดแทนที่ผู้คัคค้านเรียกจากธนาคารทั้งห้าไม่อยู่ในขอบเขตการค้ำประกัน หากธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้คัดค้านก่อนที่อนุญาตโตตุลาการชี้ขาด จะทำให้ผู้ร้องทั้งห้าได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งห้ามชั่วคราวไม่ให้ผู้คัดค้านเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกัน 6 ฉบับ ไว้ จนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งชี้ขาดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านเรียกให้ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ นครธน จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาโครงการ ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2540 รวม 2 ฉบับ หนังสือสัญญาค้ำประกันการรับคืนเงินประกันผลงานตามสัญญาโครงการฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2543 ฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2543 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2544 รวม 4 ฉบับ และมีคำสั่งห้ามธนาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งหกฉบับไว้ชั่วคราวจนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด
ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินตามคำร้องฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นครั้งที่ 2 มีเนื้อหาทำนองเดียวกับคำร้องฉบับแรก ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้คัดค้านเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารทั้งห้า คือธนาคารสแตนดาร์ชาร์เตอร์ นครธน จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) รวม 6 ฉบับ ไว้ชั่วคราวจนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านเรียกให้ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ นครธน จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันการดปฏิบัติตามสัญญาโครงการฯ ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ในวงเงินไม่เกิน 1,581,486,978 บาท และฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ในวงเงินไม่เกิน 12,568,237 ดอลลาร์สหรัฐ ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2540 ในวงเงินไม่เกิน 23,400,000 บาท และฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2540 ในวงเงินไม่เกิน 940,000 บาท และมีคำสั่งห้ามธนาคารที่กล่าวมาข้างต้นชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งสี่ฉบับไว้ชั่วคราวจนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ร้องทั้งห้า ในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าบรรยายในคำร้องทั้งสองฉบับว่า ผู้ร้องทั้งห้าและผู้คัดค้านพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาโครงการระบบบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้รับจ้างตามสัญญานี้โดยทำสัญญากับผู้คัดค้านไว้ มีข้อกำหนดในสัญญาว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ต่อมาผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลของบุคคลที่อยู่ในกิจการร่วมค้ากับผู้ร้องทั้งห้า สัญญาจึงเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านไม่ยอมตรวจรับมอบงานและชำระค่าจ้างส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งห้า ผู้ร้องทั้งห้าจึงบอกเลิกสัญญาและเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งห้ากับผู้คัดค้านจึงยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการดังที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้การที่ผู้คัดค้านเรียกร้องให้ธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานของผู้ร้องทั้งห้า เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาระหว่างผู้คัดค้านกับกลุ่มธนาคารทั้งห้าก็ตาม สิทธิของผู้คัดค้านมีเช่นนี้ได้ก็เพราะผู้ร้องทั้งห้าทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวไว้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างนั่นเอง ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงงานของผู้ร้องทั้งห้าเฉพาะแต่ในกรณีผู้ร้องทั้งห้าผิดสัญญาต่อผู้คัดค้านเท่านั้น ตราบที่อนุญาโตตุลาการยังมิได้มีคำชี้ขาดว่าผู้ร้องทั้งห้าหรือผู้คัดค้านฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้องให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานแก่ผู้คัดค้านเสมือนว่าผู้ร้องทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ เพราะเมื่อกลุ่มธนาคารทั้งห้าซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ ก็จะทำให้ผู้ร้องทั้งห้าซึ่งยังไม่อยู่ในฐานะผู้ผิดสัญญาเพราะอนุญาโตตุลาการยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดคดี ต้องรับผิดต่อกลุ่มธนาคารทั้งห้าเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นนับแต่เวลาที่กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ผู้คัดค้านไป เท่ากับผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้แพ้คดีทั้งที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแม้หนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานระหว่างผู้คัดค้านกับกลุ่มธนาคารทั้งห้าไม่มีข้อตกลงให้นำข้อพิพาทไปให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อนก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องที่คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาต่อฝ่ายผิดสัญญาในค่าเสียหายต่างๆ นั้นเป็นหนี้ประธาน เมื่อยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าฝ่ายใดผิดสัญญาและค่าเสียหายมีจำนวนเพียงใดผู้คัดค้านจะเรียกร้องให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานซึ่งเป็นหนี้ส่วนอุปกรณ์เสียก่อนหาได้ไม่ และการที่ผู้ร้องทั้งห้าใช้สิทธิทางศาลเพื่อผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดีเมื่อตนเองมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่เพราะผู้ค้ำประกันของตนถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้แทน ก็ไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากกลุ่มธนาคารทั้งห้าเสียก่อนส่วนการที่หนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานทุกฉบับมีเนื้อความระบุว่า ผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอโต้แย้งใดๆ และชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันตามที่ผู้คัดค้านเรียกร้องในทันที โดยไม่จำต้องพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานใดๆ ทั้งสละสิทธิข้อต่อสู้ที่จะให้ผู้คัดค้านเรียกร้องเอาเงินจากผู้ร้องทั้งห้าก่อนด้วยนั้น ความข้อนี้ย่อมใช้บังคับในกรณีหากผู้ร้องทั้งห้าไม่ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาล เมื่อผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องต่อศาลเช่นนี้แล้ว คดีมีเหตุผลสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องทั้งห้าไว้ชั่วคราวก่อนอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเพราะหากผู้ร้องทั้งห้าเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การจะกลับบังคับให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าระงับการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ร้องทั้งห้าและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมอาจเป็นไปได้ยาก แม้ผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งว่าผู้ร้องทั้งห้าไม่มีสิทธิเสนอข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการเพราะสัญญาโครงการฯ ตกเป็นโมฆะ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีเงื่อนไขในสัญญาที่คู่กรณีจะต้องนำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก็ตาม แต่การวินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลที่อยู่ในกิจการร่วมค้ากับผู้ร้องทั้งห้าหรือไม่ เป็นประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งในชั้นอนุญาโตตุลาการด้วย เพราะผู้ร้องทั้งห้าอ้างว่าผู้คัดค้านไม่ยอมตรวจรับงานก่อสร้างส่วนที่เหลือและไม่ยอมชำระค่าจ้างที่ค้างชำระไว้ แสดงว่าผู้ร้องทั้งห้ายังอ้างสิทธิเรียกร้องตามสัญญาก่อนมีการบอกเลิกสัญญาในภายหลัง ข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ จึงยังไม่ยุติ ผู้ร้องชอบที่จะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนี้ตามเงื่อนไขในสัญญาได้ ทั้งการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงต่อผู้ร้องทั้งห้า อันเกี่ยวเนื่องจากผู้คัดค้านสำคัญผิดในตัวบุคคลของคู่สัญญาดังกล่าว ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ใด ข้อเท็จจริงเรื่องความสำคัญผิดในตัวบุคคลเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ยุติอันจะพึงถือว่าสัญญาเป็นโมฆะดังที่ผู้คัดค้านอ้าง ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องนี้อ้างว่าผู้คัดค้านเรียกร้องให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้ผู้คัดค้านแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำต่อไปในทำนองว่าผู้ร้องทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ร้องทั้งห้าจึงสามารถยื่นคำร้องทั้งสองฉบับนี้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีวิธีคุ้มครองป้องกันการกระทบสิทธิของผู้ร้องทั้งห้าก่อนเกิดความเสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) โดยไม่จำต้องเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกระทำการใดๆ อันเป็นการก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งห้าโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเป็นกรณีฉุกเฉินแล้วมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าก่อนอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านทั้งสองฉบับฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share