คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3261/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือนรวม 173 กระทง เป็นโทษจำคุก 576 ปี8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 บทเดียว ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ไขการรวมกระทงลงโทษโดยให้ลดโทษจำเลยลงเหลือเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานการเงินของห้องอาหารโรงแรมเอราวัณซึ่งเป็นองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ได้เบียดบังเอาใบเสร็จรับเงินและเงินสดของห้องอาหารดังกล่าวไปโดยทุจริตรวม ๑๗๓ ครั้ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แต่ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ซึ่งเป็นบทหนักให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ลงโทษจำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๑๗๓ กระทงเป็นโทษจำคุก ๘๖๕ ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ เหลือโทษจำคุก ๕๗๖ ปี ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ รวม ๑๗๓ กระทง ส่วนการลงโทษและลดโทษให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แต่ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยกระทงละ ๕ ปี ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ บทเดียว และกำหนดโทษจำคุกจำเลยคงเดิมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย
แต่เนื่องจากขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๙๑ ใหม่นี้ ได้บัญญัติถึงการรวมโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดที่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขการรวมกระทงลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๙๑(๓) ใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังที่เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ กล่าวคือเมื่อรวมโทษทุกกรรมแล้วให้จำคุกจำเลย ๕๐ ปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๕๐ ปี นอกจากที่แก้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share