แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ต้องเสียภาษีอากรตาย มรดกของผู้ตายอันประกอบด้วยทรัพย์สินตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ก็ตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1600 ทายาทย่อมเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย
ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และมาตรา 20 ซึ่งว่าด้วยการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมมิได้บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อน ให้เจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติอย่างไร แต่ถึงอย่างไรเจ้าพนักงานประเมินก็จะแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรซึ่งถึงแก่ความตายแล้วหาได้ไม่ เพราะผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่อาจรับทราบการแจ้งได้ การแจ้งจึงไม่มีผล แม้ต่อมาหัวหน้าเขตจะมีหนังสือเร่งรัดภาษีไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง หัวหน้าเขตก็มิใช่เจ้าพนักงานประเมิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมเมื่อเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรโดยครบถ้วน กรมสรรพากรโจทก์ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ธ. จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ ธ. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของ ธ. ก่อนถึงแก่ความตายธ. ประกอบการค้าและได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ. 2515 ไว้ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วเห็นว่าการเสียภาษีดังกล่าวไม่ถูกต้องจะต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 204,303.19 บาท โจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีซึ่ง ธ. จะต้องเสียเพิ่มเติมให้ ธ. ทราบทางไปรษณีย์ตอบรับแล้วจำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างจำนวน 204,303.19 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า ธ. ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนเมษายน2517 โจทก์ทราบตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ยื่นฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความจำเลยไม่เคยได้รับแจ้งการประเมิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ยังไม่มีการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องหลังจากทราบว่า ธ. ถึงแก่ความตายเป็นเวลาเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม พิพากษายืนในผลที่ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นข้อแรกที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากรบัญญัติเกี่ยวกับการประเมินเรียกเก็บภาษีภายหลังกำหนดเวลายื่นรายการไว้ในมาตรา 18 และมาตรา 19 กรณีตามมาตรา 18 เป็นการประเมินภาษีตามแบบแสดงรายการที่ยื่น ส่วนกรณีตามมาตรา 19 เป็นการประเมินภาษีเนื่องจากการที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนตรวจสอบ แต่ไม่ว่าจะเป็นการประเมินในกรณีใดก็จะต้องมีการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินหรือประเมินเพิ่มเติมนั้นไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรเพื่อผู้ต้องเสียภาษีอากรจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดและใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมิน ประมวลรัษฎากรมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติให้อำเภอผู้ประเมินหรือเจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้อื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีการประเมินภาษีเนื่องจากการที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนตรวจสอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 แม้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 18 วรรคสองโดยตรง แต่ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19 และมาตรา 20 ซึ่งว่าด้วยการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมก็มิได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อนให้ปฏิบัติอย่างไร แต่ถึงอย่างไรเจ้าพนักงานประเมินก็จะแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรซึ่งถึงแก่ความตายแล้วหาได้ไม่ เพราะผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลแล้ว ไม่อาจรับทราบการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมได้ ทั้งมรดกของผู้ตายอันประกอบด้วยความทรัพย์สิน ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ก็ตกทอดแก่ทายาทไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ทายาทย่อมเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมไปยังนายธนะหลังจากนายธนะถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่มีผล แม้ต่อมาหัวหน้าเขตธนบุรีจะได้มีหนังสือเร่งรัดภาษาไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง หัวหน้าเขตธนบุรีก็มิใช่เจ้าพนักงานประเมินหนังสือดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มเติมตามกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรโดยครบถ้วน โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืน