คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3249/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ หากกรณีละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลย่อมพิพากษาลงโทษไปได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน หากมิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจะต้องทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนมีคำสั่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรจะทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยหรือไม่เมื่อเห็นว่าไม่สมควรที่จะทำการไต่สวน ก็ชอบที่จะยกคำร้องเสียได้ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะจำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลดังกล่าวได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรื่องตั๋วเงินต่อศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2533 อันเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย หลังจากศาลได้เลื่อนการพิจารณาไปแล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองซึ่งเป็นทนายโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ขออนุญาตต่อศาลชั้นต้นขอจับกุมจำเลยโดยแสดงหมายจับที่ออกโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินอันเป็นหมายจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยถูกจับกุมตัวอันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ หากทนายโจทก์ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการจับกุมจำเลยโดยไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายโจทก์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาดำเนินการในคดีนี้ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า ปัญหาในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดโดยตรงต่อระบบศาลยุติธรรม ย่อมไม่อาจมีข้อจำกัดสิทธิของผู้เกี่ยวข้องที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะที่จะใช้ดุลพินิจอย่างใดก็ได้โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ หากกรณีละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาลศาลย่อมพิพากษาลงโทษไปได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน หากมิได้กระทำผิดต่อหน้าศาล ศาลจะต้องทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนมีคำสั่งการที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงนั้นศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรจะทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยหรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่สมควรที่จะทำการไต่สวน ก็ชอบที่จะยกคำร้องเสียได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ จำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาคำสั่งของศาลดังกล่าวได้
พิพากษายืน

Share