แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันฐานผิดสัญญาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ประกันจะฎีกาไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ซึ่งผู้ประกันจะฎีกาได้หรือไม่เพียงใด ต้องพิเคราะห์ตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ยื่นฎีกานั้นเอง.
ย่อยาว
สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์โดยมีผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นผู้ประกันถึงกำหนดวันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ประกันไม่อาจนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งตามนัด ถือว่าผิดสัญญาประกันให้ปรับผู้ประกัน400,000 บาท เต็มตามสัญญาประกัน ต่อมาผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 10 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ฎีกาคำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้ประกัน เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขแล้วบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
ผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ยื่นคำร้องว่าผู้ประกันได้ดำเนินการร้องขอลดจำนวนเงินค่าปรับก่อนมีการแก้ไขมาตรา 119 ซึ่งตามฉบับเดิมให้สิทธิผู้ประกันที่จะฎีกาได้
คำสั่ง
วันที่ 11 เดือน เมษายน พุทธศักราช 2533
พิเคราะห์แล้วว่า เป็นกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกัน 400,000 บาทเต็มตามสัญญาประกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ซึ่งถูกบังคับตามสัญญาประกันจะฎีกาไม่ได้ เพราะคำสั่ง ของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532บทกฎหมายดังกล่าวนี้ใช้บังคับทันที เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532)ผู้ประกันจะฎีกาได้หรือไม่เพียงใด ต้องพิเคราะห์ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ยื่นฎีกาตนเอง ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของผู้ประกันที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง.