แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้กำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติหรือวางหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 คือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2547 จำเลยระบุชื่อขอให้นาย อ. ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงคนเดียวเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึง ผู้พิพากษาอื่นอีก การที่นาย อ. ไม่สั่งคำร้องดังกล่าว แต่กลับส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้นาย ท. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นแม้นาย ท. จะพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็หามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ เพราะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่ขอให้นาย อ. เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ป.อ. มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 25, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคท้าย อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานจำหน่ายอาวุธปืนที่ นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้และอาวุธปืนนั้นโดยสภาพมีอานุภาพไม่ร้ายแรง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 คือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อใน คำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2547 จำเลยระบุชื่อขอให้นายอนุวัตร ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงคนเดียวเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นอีก แต่นายอนุวัตรกลับไม่สั่งคำร้องดังกล่าวแต่ส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้นายทวีศักดิ์ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพิจารณา ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้อง ดังนั้นแม้นายทวีศักดิ์จะพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงก็หามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่เพราะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่ขอให้นายอนุวัตรเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2547 ไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลย หากมีการรับรองหรือไม่รับรองประการใด ก็ให้ศาลชั้นต้น ดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา.