คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยมาโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2),225 ในอันที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288และสั่งริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปี ของกลางให้ริบ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 10 ปี นอกจากที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์ตรวจและเรียกแพทย์มาให้ถ้อยคำ ศาลชั้นต้นไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจแล้วจึงได้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้มีปัญหาพิจารณาว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนนายแพทย์ปรีชา จันโทผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาทสงขลา ผู้ตรวจจำเลยเบิกความว่าจำเลยเป็นโรคจิต ชนิดระแวง แยกตัวเองจากผู้อื่น และหวาดระแวงคนอื่น ขณะที่มา ตรวจรักษาที่โรงพยาบาล พยานจะนำตัวจำเลยไปตรวจคลื่นสมองและตรวจสภาพจิต ก็ได้รับการโต้แย้งจากจำเลยว่าจะเอาตนไปฆ่าหรือ ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์จึงสามารถตรวจคลื่นสมองและสภาพจิตของจำเลยได้ จำเลยสามารถจะรับผิดชอบตนเองได้ แต่หากออกไปอยู่ในสังคมจะมีอาการหวาดระแวงเกรงว่าผู้อื่นจะมาทำร้าย ผู้ป่วยประเภทนี้ปกติแล้วเมื่อกลัวผู้อื่นจะทำร้าย ก็จะรีบทำร้ายผู้อื่นก่อนเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย เมื่อตรวจร่างกายจำเลยแล้วสรุปได้ว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตชนิดระแวงและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เห็นว่าคำเบิกความของพยานดังกล่าวมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เพราะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังได้ความตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุหมาย จ.3 ระบุว่า สาเหตุที่จำเลยใช้มีดพร้าฟันผู้ตายเพราะจำเลยเข้าใจว่าผู้ตายจะทำร้ายจำเลยและบุตรของจำเลย ซึ่งความจริงแล้วผู้ตายกับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์ของจำเลยเห็นได้ว่าเป็นอาการของคนหวาดระแวงตรงตามที่นายแพทย์ปรีชา จันโท เบิกความทั้งยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยเข้ารับการรักษาโรคจิตที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามบัตรประจำตัวคนไข้เอกสารท้ายฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อรับฟังพยานหลักฐานทั้งหมดประกอบกันแล้ว จึงเชื่อได้ว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ที่ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้มาจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และศาลฎีกามีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) มาตรา 225ในอันที่จะมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปยังโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือโรงพยาบาลแห่งอื่นตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร รับไปดูแลรักษาจนกว่าจำเลยจะหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ จึงให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share