คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้แต่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าว หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไม่ การที่โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 28 เดือน โดยมิได้บอกเลิกสัญญา จึงมิใช่การผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 อันจักทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีคืน หากคืนไม่ได้ให้ชำระเงิน 728,293 บาทพร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 11,666บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งคืนหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท จึงไม่อาจให้บุคคลใดเช่าซื้อได้ จำเลยที่ 3 ไม่เคยค้ำประกันหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งคืนรถยนต์แก่โจทก์ หากบิดพลิ้วให้ใช้ราคา 186,676 บาท และให้ใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งคืนหรือใช้ราคา แต่มิให้เกิน 48 เดือน

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาหลายเดือนหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยมิได้บอกเลิกสัญญาจะถือเป็นการผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้แต่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าวหาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไม่ การที่โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง28 เดือน โดยมิได้บอกเลิกสัญญา จึงมิใช่การผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 อันจักทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายและพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share