แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด. ก่อขึ้นเอง หาก ด. ยังคงมีชีวิตอยู่ ด. อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด. โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทรวมดอกเบี้ย และหนี้ที่ขอให้โจทก์รับรองหรืออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรวมดอกเบี้ย เมื่อรวมดอกเบี้ยรวมหนี้ทั้งสองประเภทคิดถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 เป็นเงิน12,291,598.86 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 3 และนายแดง หลิมสกุล ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยินยอมรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามภาระการค้ำประกันที่นายแดงมีต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ทั้งไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์มีเหตุให้สันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตามมาตรา 14 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์จะนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยที่ 4ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 เป็นเพียงจำเลยที่ 4ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของนายแดงยอมรับสภาพหนี้ของนายแดงต่อโจทก์ หากจะมีผลผูกพันจากการรับสภาพหนี้กองมรดกของนายแดงเท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยที่ 4 ยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยที่ 4 จึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์แม้จำเลยที่ 4 จะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ที่มิใช่ทรัพย์มรดกประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่นายแดงก่อขึ้นเอง หากนายแดงยังคงมีชีวิตอยู่ นายแดงอาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ นายแดงจึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์ และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของนายแดง ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยที่ 4ผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายแดง โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงให้ล้มละลายไม่ได้ แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของนายแดงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดทั้งไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 3ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ