แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุที่บิดามารดาจำเลยยินยอมจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ของ จ. แก่ธนาคาร น. แต่แรกนั้น เกิดจากความปรารถนาดีที่ต้องการช่วยเหลือบุตรที่ต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพ แต่เมื่อ จ. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่ธนาคารได้ การที่บิดามารดาจำเลยยินยอมตกลงทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ในเวลาต่อมา จึงน่าเชื่อว่าเป็นหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อมิให้ต้องเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยที่อาจต้องถูกบังคับจำนอง โดยให้โจทก์ซึ่งมีโอกาสที่จะขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ นำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันขอสินเชื่อจากแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อปลดภาระหนี้สินของ จ. เท่านั้น มิได้มีเจตนาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อย่างแท้จริง เพราะการไถ่ถอนจำนอง การซื้อขายรวมตลอดถึงการจดจำนองใหม่ได้ดำเนินการด้วยความเร่งรัดให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกัน ส่อแสดงเจตนาเพื่อให้โจทก์ขอสินเชื่อใหม่ไปไถ่ถอนสินเชื่อเดิมของ จ. เป็นสำคัญ มิได้มุ่งประสงค์ต่อการโอนกรรมสิทธิ์และใช้ราคาทรัพย์อันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 24775 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และบ้านเลขที่ 114/20 บนที่ดินดังกล่าว กับให้ส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและให้ชดใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยเป็นบุตรของนายจรูญและนางสุพัตรา และเป็นพี่น้องต่างบิดากับนางจินทิมา โจทก์เป็นสามีของนางจันทิมา เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 24775 พร้อมบ้านเลขที่ 114/20 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายจรูญและนางสุพัตรา โดยจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2540 บิดามารดาจำเลยนำที่ดินและบ้านพิพาทจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของนางจันทิมาในวงเงิน 300,000 บาท จากนั้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 บิดามารดาจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านพิพาท พร้อมทั้งจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาท และโจทก์นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวันเดียวกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ จำเลยเบิกความประกอบหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน และสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดว่า ในทำนองว่า วันที่ 26 มีนาคม 2540 ก่อนบิดามารดาจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นางจันทิมาได้ขอให้บิดามารดาจำเลยนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมของนางจันทิมาต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแหลมฉบัง จำนวน 300,000 บาท เพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจของนางจันทิมาและโจทก์ โดยตกลงว่าหลังจากนางจันทิมาไถ่ถอนจำนองแล้วจะคืนที่ดินพิพาทแก่บิดามารดาจำเลยต่อไป แต่นางจันทิมาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว กลับหลอกลวงให้บิดามารดาจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยมิได้ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินแต่อย่างใด แล้วโจทก์ยังนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของโจทก์แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อีกในวันเดียวกัน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ไม่สามารถบังคับได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ที่บิดามารดาจำเลยนำที่ดินพิพาทจำนองเป็นประกันหนี้ของนางจันทิมา ไม่ถูกต้องอย่างไร แต่การที่โจทก์เบิกความว่า หลังจากโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทแล้ว ในวันเดียวกันโจทก์ได้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 500,000 บาท แล้วโจทก์ได้นำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 300,000 บาท ก่อนนั้น กลับแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วบิดามารดาจำเลยผู้ขายยังมิได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินครบถ้วน เพราะผู้ซื้อได้นำค่าที่ดินที่จะต้องชำระแก่ผู้ขายไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ของนางจันทิมาภริยาโจทก์ ซึ่งบิดามารดาจำเลยนำที่ดินพิพาทจำนองไว้ มิใช่หนี้ของบิดามารดาจำเลยมาแต่เดิม และที่โจทก์เบิกความว่าได้นำเงินส่วนที่เหลือ 200,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่บิดามารดาจำเลยนั้น นายจรูญบิดาจำเลยก็เบิกความปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์เลย โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานการชำระเงินดังกล่าวมานำสืบสนับสนุนในข้อนี้ ทั้งนายสุชาติ เจ้าพนักงานที่ดินที่เป็นผู้ทำนิติกรรมสัญญาก็เบิกความว่า ไม่เห็นขณะที่มีการชำระเงิน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การซื้อขายที่ดินพิพาท มีการชำระเงินให้แก่ผู้ขายครบถ้วนแล้ว เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความสัมพันธ์ในทางครอบครัวของโจทก์ นางจันทิมา ตลอดจนถึงบิดามารดาจำเลยแล้ว ได้ความว่า เหตุที่บิดามารดาจำเลยยินยอมจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ของนางจันทิมาแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แต่แรกนั้น เกิดจากความปรารถนาดีที่ต้องการช่วยเหลือบุตรที่ต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพ แต่เมื่อนางจันทิมาไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่ธนาคารได้ การที่บิดามารดาจำเลยยินยอมตกลงทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ในเวลาต่อมา จึงน่าเชื่อว่าเป็นหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อมิให้ต้องเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยที่อาจต้องถูกบังคับจำนอง โดยให้โจทก์ซึ่งมีโอกาสที่จะขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ นำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันขอสินเชื่อจากแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อปลดภาระหนี้สินของนางจันทิมาเท่านั้น มิได้มีเจตนาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อย่างแท้จริง เพราะการไถ่ถอนจำนอง การซื้อขายรวมตลอดถึงการจดจำนองใหม่ได้ดำเนินการด้วยความเร่งรัดให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกัน ส่อแสดงเจตนาเพื่อให้โจทก์ขอสินเชื่อใหม่ไปไถ่ถอนสินเชื่อเดิมของนางจันทิมาเป็นสำคัญ มิได้มุ่งประสงค์ต่อการโอนกรรมสิทธิ์และใช้ราคาทรัพย์อันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าวแล้ว กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไปว่า ที่นายจรูญบิดาจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในหนังสือสัญญาขายที่ดินจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบิดามารดาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ